ส.ก.ทุ่งครุ ขอฝ่ายบริหารเร่งจัดหาแนวทางการป้องกันการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่กทม.
ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (10 ก.ค.67) นายนายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ เสนอญัตติด้วยวาจา เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครจัดทำแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
.
สืบเนื่องจากกรณีไฟไหม้ที่ชุมชนตรอกโพธิ์ เยาวราช และย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ถังดับเพลิงระเบิดจากเหตุการณ์ซ้อมดับเพลิงที่รร.ราชวินิต มัธยม เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 โดยเป็นการระเบิดจากถังดับเพลิงรุ่นเก่า ซึ่งหลังจากเกิดเหตุกทม.ได้มีการเก็บถังดับเพลิงเก่ากลับมา และมีการตรวจสอบพบว่าถังดับเพลิงที่เก็บกลับมามีถังที่ใช้ได้ 30% แต่หลังตรวจสอบแล้วไม่มีการนำกลับมาใช้ รวมถึงไม่ได้นำถังดับเพลิงใหม่กลับไปแทนที่ถังดับเพลิงที่เก็บกลับมา ทำให้เกิดการขาดแคลน นอกจากนั้น การแจกถังดับเพลิง สำหรับหมู่บ้านเอกชนก็ควรจะได้รับอุปกรณ์เช่นเดียวกันกับชุมชนกทม. เช่นกัน และอีกประเด็นที่สำคัญ คือ เครื่องหาบหามดับเพลิงมีขนาดใหญ่เกินไป เวลาเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้จริงทำให้เคลื่อนย้ายอุปกรณ์ลำบาก เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุยาก และอุปกรณ์หัวเจ๊ดที่ใช้มีแรงดันน้ำสูงมาก จึงทำให้ต้องใช้เจ้าหน้าที่ 2-3 คนขึ้นไปในการถืออุปกรณ์ฉีดน้ำ และขอฝากว่าในเขตทุ่งครุ มีประปาหัวแดงแค่ 300 หัว แต่จากการประเมินพื้นที่แล้วควรมีจำนวน 500-600 หัว ถึงจะครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงขอเสนอว่าฝ่ายบริหารควรจะต้องสั่งการให้สำนักงานเขตลงพื้นที่สำรวจ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม บ้านเรือน อาคารพานิชย์ และสถานที่ราชการ
.
ทั้งนี้ มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครร่วมอภิปรายและสนับสนุนญัตตินี้ ประกอบไปด้วย นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองสาน นางสาวปิยะวรรณ จระกา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสวนหลวง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา นายวิรัช คงคาเขตร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกใหญ่ และ นางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสายไหม โดยกล่าวสนับสนุนประเด็นการติดตั้งประปาหัวแดงเพิ่มเติม ให้มีการพิจารณาดูตามสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ หากติดตั้งเพิ่มได้ก็ควรทำ เพื่อให้เข้าถึงพื้นที่ที่คับแคบได้ ควรมีการนำกฎหมายควบคุมอาคารเข้ามาใช้ และควรเสริมให้มีการทำแผนฝึกอบรมในการอพยพหรือช่วยเหลือตัวเองเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ในสถานศึกษาด้วย
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานครกล่าวมาเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ที่ผ่านมากทม.มีการสำรวจผังชุมชน การซ้อมหนีภัยในชุมชนต่างๆ และมีการสำรวจตำแหน่งประปาหัวแดง มีการวิเคราะห์พื้นที่ร่วมกับการประปานครหลวงและพบว่ามีพื้นที่ที่ต้องเพิ่มประปาหัวแดง อีก 258 จุด ซึ่งกทม.ไม่สามารถให้เงินอุดหนุนกับการประปาโดยตรงได้ เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกำไร จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขข้อบัญญัติ เบื้องต้นจะดำเนินการภายใต้ MOU เพื่อเร่งติดตั้งประปาหัวแดงส่วนเร่งด่วนก่อน สำหรับเรื่องถังดับเพลิง ขณะนี้กทม. มีถังดับเพลิงที่สามารถกระจายลงชุมชน ทั้งหมด 37,000 ถัง ซึ่งจะเร่งดำเนินการในระยะ 4 เดือนจากนี้ไป ส่วนประเด็นปัญหาการดับเพลิงกรณีชุมชนตรอกโพธิ์ ยอมรับว่ามีปัญหาด้านการตัดไฟที่ยังทำได้ไม่ดีนัก และลำดับขั้นในการเข้าดับเพลิงอาจจะใช้เวลานานกว่าที่ตั้งใจ เนื่องจากมีไฟไหม้ลามไปตึกสูงที่ต้องใช้รถบันได ทำให้รถกระบะเล็กของเอกชนที่เตรียมตัวไว้ต้องถอยออกมา ซึ่งต้องมีการประสานงานให้ละเอียดและเพิ่มการฝึกซ้อมการดับไฟของเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องมีการซ้อมหนีไฟของประชาชนในชุมชน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บหนักของประชาชนด้วย ส่วนเรื่องการรับบริจาค กทม. มี BKK Food Bank สำหรับสะสมเครื่องอุปโภคไว้ให้กลุ่มเปราะบาง ซึ่งได้รับบริจาคจากประชาชนก่อนหน้านี้ เพื่อให้สามารถนำสิ่งของไปแบ่งบันให้ผู้ประสบภัยยามเกิดเหตุได้
.
รศ. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ประเด็นถังดับเพลิงที่เก็บกลับมานั้น ล้วนเป็นถังที่เสื่อมสภาพแล้วและไม่สามารถนำกลับไปใช้ได้แล้วทั้งสิ้น สำหรับแผนการจัดซื้อถังดับเพลิงเนื่องจากในปีงบประมาณ 2566 มีการล่าช้ากว่ากำหนด อย่างไรก็ตามในเดือนกันยายนจะมีการนำส่งถังดับเพลิง จำนวน 9,979 ถัง เพื่อติดตั้งในเดือนตุลาคมปีนี้ และการจัดซื้อในปีงบประมาณ 2567 อีกจำนวน 9,240 ถัง มีการนำส่งแล้วในเดือนนี้ ส่วนการติดตั้งประปาหัวแดง จำนวน 258 หัว ระหว่างรอการแก้ไขข้อบัญญัติ ได้ประสานการประปานครหลวงเพื่อติดตั้งเร่งด่วน 44 หัว และจะสามารถแก้ข้อบัญญัติเพื่อนำเสนอต่อสภากทม.ภายในเดือนตุลาคมนี้ และจะสามารถติดตั้งได้ภายในต้นปี 2568 นอกจากนี้ จะมีการซื้อรถดับเพลิงขนาดใหญ่ 10,000 ลิตร อีก 6 คัน โดยประจำการอยู่ในเขตรอบนอกของกทม. ส่วนประเด็นเครื่องหาบหามขนาดใหญ่ ที่ต้องการเปลี่ยนเป็นหัวฟ๊อกซ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอขอจัดสรรงบประมาณปี 2568 เพื่อจัดซื้อเพิ่มสถานีละ 2 หัว อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น หน่วยอปพร. สามารถใช้รถกระบะของฝ่ายปกครองเขต เพื่อนำเครื่องหาบหามออกไปใช้การได้ก่อน
———————————————–
ผู้ชมทั้งหมด 230 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง