สภากทม.ต้อนรับเยาวชนฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างเมือง
(23 ธ.ค. 67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นางลักขณา ภักดีนฤนาถ ส.ก.เขตตลิ่งชัน ในฐานะประธานคณะกรรมการการศึกษา นางสาวเมธาวี ธารดำรง ส.ก.เขตปทุมวัน ในฐานะประธานคณะกรรมการการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม นายอนุภาพ ธารทอง ส.ก.เขตสาทร นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา และนายณภัค เพ็งสุข ส.ก.เขตลาดพร้าว ให้การต้อนรับคณะเยาวชนจากเมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น และคณะเยาวชนของกรุงเทพมหานคร เข้าเยี่ยมคารวะประธานสภากรุงเทพมหานคร เนื่องในโอกาสเดินทางเยือนกรุงเทพมหานครตามโครงการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและวัฒนธรรมระหว่างกรุงเทพมหานครและเมืองฟูกูโอกะ ประจำปี พ.ศ. 2568 ณ ห้องพิธีการ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
“ในนามของสภากรุงเทพมหานคร รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับคณะเยาวชนจากเมืองฟูกูโอกะ ที่ผ่านมาสภากรุงเทพมหานครและสภาเมืองฟูกูโอกะมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ความรู้ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมมาโดยตลอด วัฒนธรรมของไทยที่ประกาศเป็นมรดกโลกเมื่อไม่นานมานี้คือ มวยไทย ประเพณีสงกรานต์รวมถึงอาหารต้มยำกุ้งและผ้าปาเต๊ะ ซึ่งเป็นหนึ่งใน Soft Power ของประเทศไทยและเป็นนโยบายของรัฐบาล โดยสภากรุงเทพมหานครให้ความสำคัญและสนับสนุนมาโดยตลอด ซึ่งประเทศญี่ปุ่นก็มี Soft Power ที่มีอิทธิพลกับชาวไทยด้วยเช่นกัน นั้นคือการ์ตูนอนิเมชัน รวมถึงโมเดลจากเรื่องต่างๆ ที่ชาวไทยชื่นชอบและเก็บเป็นของสะสมอย่างแพร่หลาย โดยในการเยือนสภากรุงเทพมหานครในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองเมืองแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณตัวแทนนักเรียนของกรุงเทพมหานครที่เป็นตัวแทนในการเผยแพร่สิ่งดีงามของประเทศไทยให้กับคณะนักเรียนจากเมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น” ประธานสภา กทม. กล่าว
.
“การเรียนการสอนของประเทศไทยมีการสอนแบบโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชนจะมีแนวคิด Life Long Learning ซึ่งกทม.กำลังผลักดันแนวคิดนี้ในโรงเรียนสังกัดของกทม. การเรียนในห้องเรียนนั้นสำคัญแต่การเรียนรู้ด้วยตนเองนั้นสำคัญไม่แพ้กัน นักเรียนต้องมีความใฝ่รู้นอกจากพื้นฐานการศึกษาที่ภาครัฐเตรียมไว้ด้วย” ประธานสภากทม. ตอบคำถามคณะฯ ในประเด็นเกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศไทย
.
อนึ่ง กรุงเทพมหานครกับเมืองฟูกูโอกะ ได้ร่วมลงนามความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2549 และได้เริ่มดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและวัฒนธรรม รุ่นที่ 1 เมื่อปี 2551 ปัจจุบันนับเป็นรุ่นที่ 15 โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองเมืองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนทั้งสองประเทศได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว การพัฒนาเยาวชน วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันของเยาวชนทั้งสองเมือง ให้เกิดคุณภาพและสร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตของทั้งสองประเทศ รวมถึงเกิดความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืนต่อไป
——————————
ผู้ชมทั้งหมด 67 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง