ตั้งคกก.วิสามัญพิจารณาโครงการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแยกเกียกกาย ช่วงที่ 3 ก่อนให้ความเห็นชอบ
ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 6 ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (7 ก.พ.67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอญัตติขอความเห็นชอบเพิ่มวงเงินผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานครโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 3 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแยกสะพานแดง
.
กรุงเทพมหานครมีความจำเป็นในการดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 1-3 เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการจราจรระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยโครงการดังกล่าว ช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 ได้ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันแล้วอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2568 และวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ตามลำดับ ส่วนช่วงที่ 3 ขณะนี้ได้ตัวผู้รับจ้างแล้วอยู่ระหว่างรอลงนามในสัญญา แต่เนื่องจากโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกายช่วงที่ 3 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแยกสะพานแดง ได้รับงบประมาณกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2564 โดยมีวงเงินงบประมาณทั้งโครงการ 980 ล้านบาท สัดส่วน กรุงเทพมหานคร : รัฐบาล 50:50 (กรุงเทพมหานคร จำนวน 490 ล้านบาท และเงินอุดหนุนรัฐบาล จำนวน 490 ล้านบาท) แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับงบประมาณ และคาดว่ารัฐบาลจะไม่สนับสนุนงบประมาณในสัดส่วนดังกล่าว
.
กรุงเทพมหานครพิจารณาแล้วเพื่อให้สามารถดำเนินการตามโครงการดังกล่าวได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่สภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบและอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการโครงการดังกล่าวไว้แล้วเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จึงขอเสนอเห็นชอบเพิ่มวงเงินผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานคร โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 3 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนครถึงแยกสะพานแดง ของสำนักการโยธา วงเงินงบประมาณทั้งโครงการ 980 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 720 วัน (ผูกพันงบประมาณ พ.ศ. 2564 – พ.ศ.2569) ในสัดส่วนกรุงเทพมหานคร 100%
.
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการนี้มีมาตั้งแต่ปี 62 ก่อนที่ผู้บริหารและสภากทม.จะเข้ามา ซึ่งปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งเกิดจากสะพานข้ามแม่น้ำไม่เพียงพอ และการก่อสร้างสะพานใหม่มักเกิดการต่อต้านจากประชาชน สำหรับโครงการนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ โครงการช่วงฝั่งธน โครงการช่วงกลางน้ำ และโครงการช่วงพระนคร ข้างรัฐสภา มูลค่าโครงการทั้ง 3 ส่วน ต่างกันไป งบประมาณก็ต่างกันออกไปด้วย ทั้งนี้ ในปี 62 รัฐบาลได้จ่ายค่าเวนคืนทั้งหมด และสร้างส่วนที่ 2 ก่อน โดยจ่ายสัดส่วนกทม.และรัฐบาล 50 : 50 สำหรับในช่วงที่ 3 ก่อนเริ่มดำเนินการ กรุงเทพมหานครได้ทำหนังสือไปถามกระทรวงมหาดไทย และได้อนุญาตให้ก่อสร้าง แต่งบสนับสนุนปี 66 และ 67 ยังไม่ได้รับ ทั้งนี้โครงการช่วงที่ 1 ฝั่งธน อยู่ในข้อบัญญัติงบประมาณของกทม.เรียบร้อย ช่วงที่ 3 ยังไม่ได้รับจากรัฐบาลจึงต้องปรับข้อบัญญัติกทม.ให้กทม.เป็นผู้จ่าย เพื่อให้เป็นไปตามกำหนดเวลาการเปิดใช้สะพาน
.
จากนั้น สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายและซักถามในญัตตินี้ ประกอบด้วย นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง และนายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย
.
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงขั้นตอนการใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร ว่า เวลาที่ขอใช้งบประมาณสำนักงบประมาณจะให้กับสำนักการโยธาตามยอดที่ประมูลได้ ซึ่งอาจไม่เต็ม 980 ล้านบาท และหากในปีนี้สภากทม.เห็นชอบขยายวงเงิน เมื่อสำนักการโยธาเข้ากระบวนการก่อหนี้ และมีการใช้เงินเกินกว่านี้ สำนักการโยธาสามารถขอใช้งบกลางได้ เพราะเป็นภาระหนี้ที่กรุงเทพมหานครต้องชำระให้กับผู้รับจ้าง
.
ด้าน นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวชี้แจงเรื่องการยืนราคา ว่า บริษัทที่ประกวดราคาได้จะยืนราคาถึงเดือนพ.ค. 2567
.
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติขอความเห็นชอบเพิ่มวงเงินผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานครโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 3 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแยกสะพานแดง ก่อนให้ความเห็นชอบเพิ่มวงเงินงบประมาณ จำนวน 19 ท่าน กำหนดเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
——————–
ผู้ชมทั้งหมด 623 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 6 ครั้ง