skip to Main Content
ขอกทม.เตรียมมาตรการรับมือ กรณีพบสารแคดเมียมในเขตบางซื่อ

ขอกทม.เตรียมมาตรการรับมือ กรณีพบสารแคดเมียมในเขตบางซื่อ

ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (24 เมษายน 2567) เวลา 10:00 น. นางสาวภัทรภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง มาตรการรับมือและแผนเผชิญเหตุของกรุงเทพมหานคร กรณีพบสารแคดเมียมในพื้นที่เขตบางซื่อ ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
📢“จากกรณีการตรวจพบสารเคมีประเภทกากแคดเมียมในโรงงานพื้นที่เขตบางซื่อ และสำนักงานเขตบางซื่อได้ออกประกาศพื้นที่สาธารณภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยห้ามอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการในพื้นที่ที่กำหนด พร้อมทั้งดำเนินการตรวจสุขภาพของคนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งการดำเนินการและการชี้แจงข้อมูลไม่ชัดเจน ขาดการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกและวิตกกังวลถึงอันตรายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น”
.
🌟นางสาวภัทรภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ กล่าวว่า เนื่องด้วยเหตุการณ์พบกากสารแคดเมียมซุกซ่อนในโรงงานเขตพื้นที่บางซื่อมาจำนวน 150 ตัน ที่ผ่าน ทางเพจกรุงเทพมหานคร มีการโพสในเพจเฟสบุ๊ค ประกาศว่าพบพื้นที่อันตราย เร่งตรวจสุขภาพประชาชนโดยรอบ ซึ่งข้อความดังกล่าวนั้น ไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และไม่เข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติ จึงขอตั้งคำถามถึงฝ่ายบริหาร 3 ข้อ คือ 1.กทม.จะมีการขนย้ายสารแคดเมียมเมื่อไหร่และขนย้ายอย่างไร 2.กทม.มีอำนาจหน้าที่อย่างไรในการจัดการปัญหานี้ให้โปร่งใส 3. จะรับมือกับปัญหาภัยพิบัติในอนาคตทั้งการสื่อสารและการบริหารอย่างไร
.
📍รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า กทม.มีการวางแผนร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยการขนย้ายจะเป็นช่วงวันที่ 28-30 เมษายน 2567 โดยกำลังวางแผนเรื่องการขนย้ายโดยใช้ถุงซิล และกำหนดมาตราการในเส้นทางการขนย้ายและทำความสะอาดพื้นที่โรงงานต่อไป ส่วนในเรื่องการขออนุญาตในการประกอบกิจการอันตรายนั้น ต้องมีการขออนุญาตและจดทะเบียน โดยต้องแนบแผนที่การกำกับควบคุมสถานที่ แผนและเครื่องมือในการทำความสะอาดสารเคมีกรณีเกิดการรั่วไหลในโรงงานและผ่านการตรวจสอบของสำนักงานเขต ดังนั้นการตรวจสอบจะมีสำนักงานเขตและสำนักอนามัยส่วนงานสิ่งแวดล้อมทำงานร่วมกัน โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์อันตรายจะใช้แผนเผชิญเหตุของกรุงเทพมหานคร และชุดปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตรายของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่วนเรื่องการตรวจสอบพื้นที่ให้โปร่งใส จะเป็นการตรวจใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นหลัก ส่วนในเรื่องการประชาสัมพันธ์นั้น ทางกทม.มีแผนสื่อสารในภาวะวิกฤตเพียงแต่ว่าเจ้าหน้าที่ยังขาดความชำนาญในการใช้งานแผนดังกล่าวในยามเร่งด่วน โดยต่อไปจะมีการให้ข้อมูลแก่ประชาชนให้ถูกต้องและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกทม.จะปรับปรุงการประชาสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น และกากสารแคดเมียมที่ตรวจพบในโรงงานเก็บของเก่าเขตบางซื่อนั้น จะดำเนินการให้โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
————————————–

ผู้ชมทั้งหมด 373 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 6 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top