skip to Main Content
คณะผู้แทนสภากทม. ประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครสู่สมาร์ทซิตี้

คณะผู้แทนสภากทม. ประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครสู่สมาร์ทซิตี้

(19 มี.ค. 67) คณะผู้แทนสภากรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านเทคโนโลยี การจราจร นำโดย นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร หัวหน้าคณะเดินทาง นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่หนึ่ง พร้อมทั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย นายจิรเสกข์ วัฒนมงคล นายณภัค เพ็งสุข นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ นางลักขณา ภักดีนฤนาถ และ นายธนวัฒน์ เชิดชูกิจกุล ณ ศูนย์ควบคุมและรายงานการจราจรกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งในการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ในครั้งนี้ เป็นการประชุมเกี่ยวกับทางด้านเทคโนโลยี การจราจร การขนส่งอัจฉริยะ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีที่ใช้ได้ชีวิตประจำวันมาปรับใช้กับพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ก้าวสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ต่อไป
.
ศูนย์ควบคุมและรายงานจราจรกรุงโซล หรือ Transport Operation & Information Service : Seoul (TOPIS) เป็นศูนย์รวมข้อมูลการจราจรที่สำคัญของเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ภายในศูนย์ควบคุมและรายงานจราจรจะมีข้อมูลถนนทั่วกรุงโซล ด้านการจราจร อุบัติเหตุ หรือแจ้งปิดถนน เพื่อรายงานให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทราบ โดยส่งเอสเอ็มเอสให้ผู้ใช้งาน มีแอพพลิเคชั่นให้ผู้ใช้โหลดข้อมูลได้ ในปี 2557 ทาง TOPIS จะมีพยากรณ์รถติดล่วงหน้า และแนะนำเส้นทางเลี่ยงแต่ละวัน ซึ่งเป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปลงการจัดการจราจรระบบใหม่ และการจัดทำบัตร TMoney หรือบัตรเติมเงินที่ใช้จ่ายค่าโดยสารได้ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ รวมทั้งสินค้าอื่นๆ ในร้านสะดวกซื้อที่เข้าร่วม โดยบริษัท Korea Smart Card Corporation บริษัทผู้บริหาร เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทรถไฟใต้ดินกรุงโซลของรัฐบาลและบริษัท LG group
.
จากนั้นคณะได้เดินทางเข้าร่วมประชุมเรื่องเมืองอัจฉริยะและรัฐบาลดิจิตอล ณ หอนิทรรศการกรุงโซลอัจฉริยะ (Smart Seoul Exhibition Hall) โดยหอนิทรรศการกรุงโซลอัจฉริยะ เป็นสถานที่จัดแสดงแนวคิด นวัตกรรม และผลลัพธ์ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการจัดทำและส่งมอบบริหารสาธารณะแก่ประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบของรัฐบาลมหานครโซล ภายในมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะจำนวนมาก เช่น การจัดเก็บฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของประชาชนผ่าน Seoul Smart City Data Platform ซึ่งเก็บข้อมูลจากการเข้าใช้งาน Wi-Fi ทั่วเมืองที่ให้บริการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายโดยรัฐบาลมหานครโซล ซึ่งผู้ที่จะใช้บริการ Free Wi-Fi จะต้องอนุญาตให้รัฐบาลมหานครโซลเข้าถึงข้อมูลการใช้บริการในครั้งนั้น ๆ ข้อมูลที่ได้จะนำไปจัดหมวดหมู่และนำไปสรุปเป็นแนวโน้มของประเด็นต่าง ๆ ที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจ แล้วนำข้อมูลเหล่านี้ไปจัดทำบริการสาธารณะ ทั้งนี้ ภาครัฐในเกาหลีใต้มีการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน รวมทั้งหน่วยงานภาคเอกชนมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลมากกว่า 300 องค์กร นอกจากนั้น รัฐบาลมหานครโซลยังติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ในสถานที่ต่าง ๆ ครอบคลุมทั่วเมือง และที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์คอยประมวลและวิเคราะห์ผล เพื่อทำหน้าที่ติดตาม สอดส่อง และแจ้งเตือนเหตุการณ์ต่าง ๆ อาทิ การกระทำที่ผิดกฎหมาย การเกิดอุบัติเหตุ การจราจรติดขัด การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สภาพอากาศ เป็นต้น
——————————

ผู้ชมทั้งหมด 574 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 4 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top