skip to Main Content
ส.ก. ตลิ่งชันเสนอกทม.เปิดศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาการเด็กพิเศษแบบเต็มศักยภาพ

ส.ก. ตลิ่งชันเสนอกทม.เปิดศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาการเด็กพิเศษแบบเต็มศักยภาพ

(30 ต.ค. 67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
นางลักขณา ภักดีนฤนาถ ส.ก.เขตตลิ่งชัน ได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาเปิดศูนย์การศึกษาพิเศษสังกัดกรุงเทพมหานคร ว่า เนื่องจากเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษที่เข้าศึกษาเรียนร่วมในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครมีตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 4,383 คน จาก 161 โรงเรียน เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ และเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย เด็กเหล่านี้มีความต้องการพิเศษแตกต่างกัน จากสถิติพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบเงินอุดหนุนเพิ่มรายหัวละ 2,000 บาท เพื่อจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อการเรียนการสอน บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการของโรงเรียนทำให้เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครไม่ได้รับการบริการหรือพัฒนาการเต็มศักยภาพ ซึ่งอาจส่งผลให้เรียนไม่ทันเพื่อนหรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่ดี แม้กรุงเทพมหานครจะดำเนินการอบรมด้านการศึกษาพิเศษแก่ครูทั่วไปทั้ง 437 โรงเรียน แต่เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษที่มีความบกพร่องจำเป็นต้องได้รับบริการให้คำปรึกษา และระบบการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสม ดังนั้นเพื่อลดขีดจำกัดทางการเรียนรู้ ไม่เป็นภาระแก่ผู้ปกครองและสังคม กรุงเทพมหานครควรตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยกำหนดเป็นศูนย์กลางเฉพาะทางด้านวิทยาการทางการศึกษาพิเศษแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและนักสหวิชาชีพแบบบูรณาการ
.
ทั้งนี้ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตตินี้หลายท่าน ได้แก่ ดร.เมธาวี ธารดำรงค์ ส.ก.เขตปทุมวัน กล่าวว่า เด็กพิเศษแต่ละปีเพิ่มปริมาณมากขึ้น เห็นควรให้กรุงเทพมหานครเพิ่มโรงเรียนของเด็กพิเศษเพื่อการพัฒนาเด็กให้ถูกต้อง ถัดมา นางสาวกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง กล่าวว่าในหลาย ๆ เขตมีห้องเรียนสำหรับเด็กพิเศษ และความสำคัญของการดูแลเด็กพิเศษคือ ครอบครัวจะต้องยอมรับและเข้าใจเด็ก เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง กรุงเทพมหานครต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลเด็กพิเศษให้เหมาะสม เพราะเด็กพิเศษจะมีอารมณ์และความคิดต่างจากเด็กทั่วไป คุณครูหรือผู้ที่ดูแลก็จะต้องมีความอดทนมาก หากมีการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสม เด็กพิเศษจะสามารถดูแลตัวเอง และประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดี จึงขอสนับสนุนในญัตตินี้
ด้านนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวว่า อยากให้มีการแยกการเรียนการสอนระหว่างเด็กพิเศษและเด็กปกติถึงจะเหมาะสม คุณครูต้องมีความอดทนสูง มีการคัดเลือกเพื่อได้บุคลากรที่มีคุณภาพสามารถดูแลเด็กพิเศษให้กลับมาใช้ชีวิตแบบคนปกติได้ การส่งเสริมให้ออกกำลังกาย การส่งเสริมความชอบตามความถนัดของเด็กพิเศษ
.
นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ ขอให้กรุงเทพมหานครสนับสนุนบุคลากรผู้สอน เทคโนโลยี การเรียนการสอนต่าง ๆ ให้เหมาะสม ตลอดจนการให้ตำแหน่งงานที่ไม่หนักมากให้กับเด็กพิเศษที่โตแล้ว เพื่อให้เด็กพิเศษเหล่านี้สามารถประกอบอาชีพสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ นอกจากนี้ นายตกานต์ สุนนทวุฒิ ส.ก.เขตหลักสี่ สนับสนุนญัตินี้เพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถดูแลเด็กพิเศษให้ถูกต้องเหมาะสม รวมถึงการรักษาที่เหมาะสมกับควบคู่กับการเรียนการสอนเด็กเหล่านี้ด้วย และขอให้พิจารณาและตรวจสอบจำนวนเด็กในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาเลือกสถานที่ตั้งศูนย์ฯ เพื่อช่วยภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเด็กและผู้ปกครอง ด้านนางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.เขตคลองสามวาก็เห็นด้วยและสนับสนุนญัตตินี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากอยากให้กรุงเทพมหานครแยกเด็กพิเศษและเด็กปกติ จะได้ช่วยให้พัฒนาเด็กทั้งสองแบบได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และนายเอกกวิน โชคประสพรวย ส.ก.เขตราชเทวี เสนอการจัด 6 โซนของกรุงเทพมหานคร โดยอาจให้สำนักการศึกษาสำรวจสถานศึกษาในพื้นที่และนำอาคารที่มีอยู่แล้วแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาทำเป็นศูนย์ดูแลเด็กพิเศษ เน้นย้ำการเปิดรับบุคลากรที่เหมาะสมกับเด็กพิเศษ ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเด็กได้อย่างเต็มที่
.
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2540 กรุงเทพฯได้เปิดการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิเศษโดยเป็นการเรียนร่วม เหตุผลของการเรียนนร่วมคือ เด็กพิเศษจะสามารถเห็นและเรียนรู้พฤติกรรมจากเด็กปกติ และพัฒนาตนเองได้จากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และจะปรับให้มีศูนย์ฯหรือห้องเฉพาะเด็กพิเศษเพิ่มขึ้น ปัจจุบันกรงุเทพมหานครมี 161 โรงเรียน ที่ดูแลเด็กพิเศษอยู่ และปรับการดูแลของครูต่ออัตราเด็กจาก 1 ต่อ 10 เป็น 1 ต่อ 6 เพื่อไม่ให้ครูเหนื่อยจนเกินไปและเด็กพิเศษได้รับการดูแลมากขึ้น ทั้งนี้มีการสนับสนุนเงินค่าตอบแทนให้กับครูผู้สอนเด็กพิเศษ มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนวมินทรเพื่อพัฒนาครูสำหรับเด็กพิเศษ ในเรื่อง 6 กลุ่มโซน จะนำไปพิจารณาต่อไป
.
จากนั้นที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีมติเห็นชอบญัตติและส่งให้ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครพิจารณาต่อไป
——————————

ผู้ชมทั้งหมด 38 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 38 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top