คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณางบประมาณ ปี 2568 พร้อมผลักดันการพัฒนาปรับปรุงที่อยู่อาศัยของบุคลากรของกทม. ที่ขาดแคลนและทรุดโทรมให้ดีขึ้น เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวกทม.ที่ดีกว่าเดิม
ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : (23 ส.ค.67) นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร โดยในวันนี้เป็นการรายงานผลการพิจารณางบประมาณของประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ระดับสำนัก 5 คณะ ประกอบด้วย
1. คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักการคลัง การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล
2. คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักสิ่งแวดล้อม
3. คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ กทม. และสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร
4. คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักเทศกิจ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักการจราจรและขนส่ง
5. คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง และสำนักพัฒนาสังคม
.
ทั้งนี้ ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้นำผู้บริหารหน่วยงานเข้าชี้แจงเหตุผลความจำเป็น และความเหมาะสมการใช้งบประมาณ ประกอบด้วย นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำคณะผู้บริหารสำนักการคลัง การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล เข้าชี้แจง นายยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม ส.ก.เขตทวีวัฒนา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำคณะผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม เข้าชี้แจง นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.เขตคลองสามวา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำคณะผู้บริหารสำนักเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการ กทม. และสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร เข้าชี้แจง นายอนุรักษ์ เลิศวัฒนาไพบูลย์ ส.ก.เขตวังทองหลาง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำคณะผู้บริหารสำนักเทศกิจ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักการจราจรและขนส่ง เข้าชี้แจง และนายปวิน แพทยานนท์ ส.ก.เขตบางคอแหลม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำคณะผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง และสำนักพัฒนาสังคม เข้าชี้แจง
.
ในที่ประชุม คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินงงานของกองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ซึ่งมีหน้าที่ซ่อมแซมพาหนะหน่วยงานของกทม. พบว่าดำเนินการล่าช้าเกินกว่ากำหนด หลังจากซ่อมแล้ว บางครั้งไม่สามารถใช้งานได้นาน ส่งผลให้หน่วยงานของกทม.ไม่สามารถออกปฏิบัติงานได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
.
นายเรืองศักดิ์ สายสิงห์ทอง ผู้อำนวยการกองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง กทม. ชี้แจงว่า กองโรงงานช่างกลมีรถเข้าซ่อมปีละมากกว่า 6,000 – 7,000 คัน ในปีที่ผ่านมาซ่อมเสร็จไปแล้วกว่า 5,000 คัน เหลือเพียง 5-6% เท่านั้นที่ยังซ่อมไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากบางกรณีสภาพของรถและสภาพของเครื่องยนต์ผ่านการใช้งานมานานกว่า 7 – 10 ปี ส่วนเรื่องการซ่อมแล้วซ่อมอีกนั้น เนื่องจากกองโรงงานช่างกลจะซ่อมให้เฉพาะรายการที่หน่วยงานแจ้งเท่านั้น ดังนั้นเมื่อซ่อมรายการหนึ่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว อาจเกิดความเสียหายในรายการอื่นต่อมา อย่างไรก็ตาม กองโรงงานช่างกลจะตรวจเช็ครายการซ่อมมากกว่าที่หน่วยงานแจ้งเข้ามาเพื่อสำรวจความเสียหายและแจ้งกลับไปยังหน่วยงานนั้นๆ เสมอเพื่อให้พิจารณา ส่วนเรื่องการบริการมีการเปลี่ยนน้ำมันหล่อลื่น ยาง และแบตเตอรี่ บริการโดยที่ทางหน่วยงานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด รวมถึงมีการส่งเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมการซ่อมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อรองรับนโยบายของฝ่ายบริหารและเทคโนโลยีในอนาคตต่อไป
.
จากนั้นคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการตั้งประมาณการรายรับของสำนักการคลัง เพื่อให้สำนักงานเขตจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นประมาณการที่สูงเกินกว่าที่เขตจะดำเนินการได้ ส่งผลให้เขตไม่สามารถทำตัวชี้วัดหน่วยงานสำเร็จได้
.
นายโอฬาร อัศวพลังกูล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กทม. ชี้แจงว่า เนื่องจากสำนักการคลังไม่มีแผนที่ภาษี ก่อนการจัดทำประมาณการ จึงทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าแต่ละสำนักงานเขตจัดเก็บภาษีได้ครบ 100% หรือไม่ โดยการกำหนดประมาณการในเขตนั้นคำนวนจากการจัดเก็บภาษีปีที่แล้ว ปรับลด 50% และประเมินว่าในปีต่อไปสามารถจัดเก็บได้เกินประมาณการอีกหรือไม่ โดยในปีนี้มีการปรับประมาณการภาษีโรงเรือนที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ลงมาอย่างมาก ซึ่งใช้มาตรา 92 พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่สามารถจัดเก็บย้อนหลังได้ 5 ปี ซึ่งการเก็บภาษีจะค่อยๆ น้อยลงจนหมดในปีสุดท้าย เนื่องจากปีนี้กทม.สามารถจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้เกิน 100% เพราะสำนักงานเขตมีศักยภาพที่มากพอ ในปีถัดๆ จะปรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งขณะนี้สำนักการคลังมีแผนที่ภาษีเรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของภาษีป้ายที่มีการประมาณการรายได้สูงเป็นเพราะฝ่ายบริหารมีการตรวจพบการทุจริต จึงปรับให้มีการประมาณการรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในปีนี้สำนักงานเขตจัดเก็บภาษีได้ 1,192 ล้านบาทจากประมาณการไว้ที่ 1,920 ล้านบาท นั้นแสดงให้เห็นว่าสำนักงานเขตมีศักยภาพมากพอในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว
.
คณะอนุกรรมการ ฯ ของสำนักการคลัง การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร และสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ได้มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
1. สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ควรมุ่งเน้นการดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการค้าโดยไม่ใช้เงินงบประมาณ เช่น ประสานหน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดให้มีกิจกรรมตรวจวัดสายตาฟรี การให้บริการซ่อมรถจักรยานยนต์และถ่ายน้ำมันเครื่องฟรี การให้บริการซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าฟรีฯลฯ
2. สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ควรเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการเรื่องห้องน้ำของตลาดที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ โดยให้เอกชนเข้ามาลงทุนก่อสร้างและพัฒนาปรับปรุงให้มีความทันสมัย สะอาด และถูกสุขลักษณะ ตัวอย่างเช่น อาจเป็นลักษณะห้องน้ำหยอดเหรียญ ฯลฯ
.
เนื่องด้วยค่าแรงของเจ้าหน้าที่เก็บขนนั้นค่อนข้างน้อยอีกทั้งยังไม่มีสวัสดิการที่ดีในการประกอบอาชีพ จึงทำให้เวลาเปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่เก็บขนนั้น มีผู้ที่สนใจสมัครน้อย ทำให้เจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะทั้ง 50 เขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อยรำคาญและร้องเรียนผ่านแอปพิลเคชั่นแทฟฟี่ฟองดูเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการเพิ่มค่าแรง เพิ่มสวัสดิการให้เจ้าหน้าที่เก็บขน คาดว่าจะมีผู้ที่สนใจสมัครงานตำแหน่งนี้มากขึ้น จากรถหนึ่งคันมีเจ้าหน้าที่เก็บขน 1 คน เป็น 2-3 คนต่อคัน ซึ่งจะทำให้การจัดการปริมาณขยะของกทม.มีประสิทธิภาพมากขึ้น นางกนกนุช ประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ ตั้งข้อสังเกตกับหน่วยงาน
.
คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักสิ่งแวดล้อม ได้มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
1. โครงการจ้างเหมาทำความสะอาดถนนสายหลักและถนนสายรองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ควรพิจารณาติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่นเพื่อให้ประชาชนได้เห็นในระหว่างรถออกปฏิบัติงาน และควรกำหนดเส้นทางให้รถกวาดดูดฝุ่นออกปฏิบัติงานครอบคลุมทุกพื้นที่
2. การกำหนดวิธีการตรวจรับงานและกำจัดฝุ่นที่ได้จากรถกวาดดูดฝุ่น ควรมีข้อกำหนดที่ชัดเจน และต้องเพิ่มความระมัดระวังในการตรวจรับ
3. โครงการจ้างเหมาเอกชนเก็บขนมูลฝอยทั่ว ไป จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อลูกจ้างที่ปฏิบัติงานอยู่เดิม ต้องมีแผนการรองรับที่ชัดเจนเพื่อลดผลกระทบต่อลูกจ้างให้น้อยที่สุด
4. โครงการจ้างเหมาเอกชนเก็บขนมูลฝอยทั่ว ไป จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน เป็นการแก้ปัญหามูลฝอยส่วนเกินในพื้นที่เขตนำร่อง 10 เขต ควรกำหนดเส้นทางการจ้างเหมาเอกชนเก็บขนไม่ให้ซ้ำซ้อนกับเส้นทางที่กรุงเทพมหานครดำเนินการเอง การจ่ายค่าจ้างคิดจากปริมาณมูลฝอยที่เก็บได้ควรมีข้อกำหนดขอบเขตของงานและการตรวจรับที่ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้รับจ้างเก็บขนมูลฝอยนอกเส้นทางที่กรุงเทพมหานครกำหนด
5. กิจกรรมลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหาสิ่งแวดล้อม ควรให้สำนักงานเขตดำเนินการ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่า
6. โครงการส่งเสริมการดำเนินงานตามเกณฑ์การประเมินสำนักงานสีเขียวกรุงเทพมหานคร (Bangkok Green Office) เป็นกิจกรรมที่ทุกหน่วยงานจะต้องดำเนินการตามภารกิจหน้าที่ซึ่งไม่ควรมีการมอบรางวัล
7. โครงการจ้างเหมาเอกชนขนมูลฝอยจากสถานีขนถ่ายมูลฝอยรัชวิภาและนำส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร เมื่อสิ้นสุดสัญญา ควรพิจารณาให้สำนักงานเขตส่งมูลฝอยไปที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยที่ใกล้เคียงโดยตรง
8. โครงการของกรุงเทพมหานครที่มีลักษณะเป็นการจ้างเหมาเอกชนจัดการหรือกำจัดมูลฝอย หากผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา ควรมีมาตรการในการดำเนินการอย่างจริงจัง อาทิ การดำเนินคดีการปรับ การยกเลิกสัญญา ฯลฯ
9. โครงการต่างๆ ที่มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครควรลงทุนก่อสร้างเอง และให้เอกชนบริหารจัดการเฉพาะการเดินระบบเพื่อลดปัญหาการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย แต่ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้
10. กรุงเทพมหานครควรมีการกำหนดราคามาตรฐาน เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการจัดทำราคากลางการจ้างเหมาเอกชนดำเนินการในด้านต่างๆ
11. กรุงเทพมหานครควรมีมาตรการในการจัดการกับผู้รับจ้างที่ผิดสัญญา อย่างเข้มงวด อาทิ การปรับ การดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหาย การยกเลิกสัญญา ฯลฯ
12. โครงการจ้างเหมาเอกชนขนมูลฝอยจากศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหมและนำไปกำจัดตามหลักวิชาการ ควรกำหนดขอบเขตของงานให้ชัดเจน ครอบคลุมตามนิยามที่กฎหมายกำหนด และควรกำหนดเกณฑ์การพิจารณาผลการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเป็นธรรม เช่น ประสบการณ์ของผู้รับจ้าง ความพร้อมของยานพาหนะและเครื่องจักรกลระยะทางและสถานที่กำจัดมูลฝอย ฯลฯ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่กรุงเทพมหานครจะได้รับสูงสุด และส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
13. การจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่าง ๆ ควรเปิดกว้างให้มีการแข่งขัน ไม่ผูกขาดผู้รับจ้างเพียงรายเดียว เพื่อให้กรุงเทพมหานครได้ประโยชน์สูงสุด
14. การเช่ารถไฟฟ้าเก็บขนมูลฝอย ควรเป็นรถใหม่และรายละเอียดคุณลักษณะต้องไม่น้อยกว่าโครงการเดิม เช่น ขนาดถังบรรจุ ฯลฯ
15. การจัดหาม้านั่งสำหรับผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ ควรคำนึงถึงความคงทน แข็งแรง และเพียงพอต่อผู้ใช้บริการ
16. ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อ ควรมีรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อให้ได้ครุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แข็งแรง ทนทาน และควรมีประกันอย่างต่ำ 5 ปี
17. เนื่องจากผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ มีกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ เห็นควรเพิ่มสุขาและทางลาด เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการให้เพียงพอและกระจายให้ทั่วถึง
.
“คณะกรรมการวิสามัญฯ พร้อมผลักดันสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร พัฒนาปรับปรุงที่อยู่อาศัยของข้าราชการ บุคลากรของกรุงเทพมหานคร เนื่องในปัจจุบันที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการ บุคลากรกทม. มีจำนวนน้อยและค่อนข้างทรุดโทรมเป็นอย่างมากทั้งสภาพภายในห้องและโดยรอบของสถานที่แต่ละแห่ง โดยสภากรุงเทพมหานครพร้อมผลักดันโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อพี่น้องข้าราชการ บุคลากรของกทม. ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม” นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ รองประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ ตั้งข้อสังเกตกับหน่วยงาน
.
จากนั้นคณะกรรมการวิสามัญฯ ตั้งข้อสังเกตสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการรับบรรจุข้าราชการตามอัตรากำลังที่ว่างรวมถึงการรับบุคคลพิการเข้าทำงานในสังกัดกทม. เนื่องด้วยปัจจุบันหน่วยงานในสังกัดของกทม.ขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก ทำให้บางหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ได้ล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งทางสำนักงาน ก.ก. เปิดอัตรากำลังต่อหน่วยงานไม่สอดคล้องกับภารกิจของแต่ละหน่วยงาน อีกทั้งคนพิการที่ได้รับการบรรจุส่วนใหญ่ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานเขต ทำให้บางสำนักไม่มีบุคลากรปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานตามที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการวิสามัญฯ จึงให้หน่วยงาน เร่งวิเคราะห์ความเหมาะสมในแต่ละตำแหน่งเพื่อเปิดรับคนพิการเข้าปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ โดยเร็ว
.
คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร และสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
1. การประชาสัมพันธ์บทบาทของสภากรุงเทพมหานครควรจะรีบเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสภากรุงเทพมหานครรวดเร็วทันเหตุการณ์ยิ่งขึ้น เนื่องจากภารกิจของสภากรุงเทพมหานครเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นงบประมาณ การเสนอข่าวที่น่าสนใจและรวดเร็วทันเหตุการณ์จะทำให้ ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารเรื่องราวต่าง ๆ ได้ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
2. การจัดซื้อรถยนต์เพื่อทดแทนของเดิมที่จำหน่ายหรือเสื่อมสภาพ ควรศึกษาหาข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างการจัดซื้อรถยนต์กับการเช่ารถยนต์ ว่าแบบใดมีความคุ้มค่าและมีประโยชนในการใช้งานมากกว่า
3. โครงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรควรพัฒนาให้สอดคล้องตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร เพื่อให้รองรับแผนงานและโครงการที่เกิดขึ้นในอนาคต
4. การปรับปรุงอาคารสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้างของกรุงเทพมหานคร ควรจัดให้มีงบประมาณในการจัดซื้อมีบำรุงรักษาครุภัณฑ์ที่มีราคาแพงตามกำหนดวงรอบ เนื่องจากการซ่อมบำรุง เช่น เครื่องสูบน้ำใช้ในอาคาร เครื่องสูบน้ำในระบบดับเพลิงในอาคาร หากไม่มีการซ่อมบำรุงตามกำหนดวงรอบซ่อมบำรุงอาจทำให้เกิดการชำรุดเสียหายได้
5. งบประมาณส่วนใหญ่ของสำนักงานประชาสัมพันธ์เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ของกรุงเทพมหานคร ดำเนินการโดยจ้างเหมาเอกชน ในการออกแบบ ผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นงบประมาณค่อนข้างสูง การจัดซื้อกล้องวิดีโอระบบดิจิตอลจึงอาจจะไม่มีความจำเป็นและไม่มีความคุ้มค่า ในการใช้งาน
6. เกณฑ์การคัดเลือกเยาวชนในการจัดกิจกรรมที่มีการแลกเปลี่ยนเยาวชนกรุงเทพมหานครร่วมกับเมืองพี่เมืองน้อง ควรพิจารณาเพิ่มสัดส่วนและเปิดโอกาส ให้นักเรียนโรงเรียนในสังกัดของกรุงเทพมหานครเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีสัดส่วนเท่ากันของนักเรียนโรงเรียนในสังกัดของกรุงเทพมหานครและนักเรียนโรงเรียนนอกสังกัดของกรุงเทพมหานคร
.
คณะกรรมการวิสามัญฯ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดซื้อกล้องวงจรปิดกว่าหมื่นตัวเพื่อทดแทนของเก่าหรือซื้อใหม่ โดยกำหนดคุณสมบัติสูงและเปลี่ยนมุมกล้องเพิ่มความกว้างระยะเลนส์ครอบคลุมพื้นที่ ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ โดยกล้องวงจรปิดของกทม.มีประมาณ 64,000 ตัว เป็นระบบAnalogและระบบDigital อายุการใช้งานส่วนใหญ่มากกว่า 8 – 10 ปี สำนักการจราจรและการขนส่งได้ตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อกล้องระบบDigitalทดแทนระบบAnalogโดยติดตั้งในจุดเดิมซึ่งบางจุดคณะกรรมการวิสามัญฯ เห็นควรว่าให้เปลี่ยนจุดและเพิ่มคุณสมบัติกล้องให้สามารถครอบคลุมพื้นที่ให้มากขึ้นเพื่อประหยัดงบประมาณและไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งกล้องหลายๆ ตัวในจุดเดียวกัน
.
คณะอนุกรรมการ ฯ ของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง และสำนักพัฒนาสังคม ได้มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
1. การตั้งงบประมาณประเภทงบดำเนินงาน ลักษณะรายจ่ายที่เป็นค่าใช้สอยและค่าสาธารณูปโภค ควรพิจารณาตั้งงบประมาณตามการเบิกจ่ายจริงของหน่วยรับงบประมาณ
2. การดำเนินการตามโครงการของประเภทงบรายจ่ายอื่น ควรพิจารณาตรวจสอบเรื่องความซ้ำซ้อนของกลุ่มเป้าหมายของโครงการ
3. การปรับปรุงสถานสงเคราะห์คนชรา ควรปรับปรุงให้ทันสมัย ปลอดภัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และควรพิจารณาเพิ่มพื้นที่การจัดกิจกรรมให้หลากหลายเพื่อป้องกันความเบื่อหน่ายของผู้รับบริการ
4. การจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาสำหรับผู้สูงอายุ ควรพิจารณาการจัดกิจกรรมให้มีความครอบคลุมทุกระดับวัยของผู้สูงอายุและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5. การดำเนินการกิจกรรมตามประเภทงบรายจ่ายอื่น ควรพิจารณาตรวจสอบลักษณะการจัดกิจกรรม ถ้ามีลักษณะที่คล้ายคลึงกันควรดำเนินการร่วมกัน
6. การขอตั้งงบประมาณประเภทงบลงทุน ค่าครุภัณฑ์ที่ไม่มีราคามาตรฐาน หน่วยรับงบประมาณควรแนบใบเสนอราคาพร้อมรายละเอียดประกอบที่มีประเภทสินค้าที่แตกต่างกัน เนื่องจากรายละเอียดเอกสารใบเสนอราคาจากร้านค้าของบางหน่วยรับงบประมาณ เป็นการรวมรายการสินค้าทุกรายการที่จัดซื้อแต่เป็นสินค้าต่างประเภทกัน
7. การจัดทำเล่มร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและเล่มรายละเอียดเอกสารประกอบ ควรแจ้งรายการและมีรายละเอียดที่มาของงบประมาณที่ครบถ้วน
—————————
ผู้ชมทั้งหมด 55 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 1 ครั้ง