skip to Main Content
ตั้งคกก.วิสามัญฯ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของกรุงเทพมหานคร

ตั้งคกก.วิสามัญฯ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ พัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของกรุงเทพมหานคร

(2 ต.ค. 67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม
.
นายปวิน แพทยานนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางคอแหลม ยื่นญัตติ เรื่อง ขอให้สภากรุงเทพมหานครแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของกรุงเทพมหานคร ว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยที่เรียกว่าเป็นมหานครศูนย์กลางเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ด้วยรัฐบาลมีนโยบายการสนับสนุนซอฟต์เพาเวอร์ เพื่อให้เป็นแนวทางสำคัญที่จะยกระดับและการพัฒนาความสามารถด้านความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าและสร้างรายได้ พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตลอดจนส่งเสริมบทบาทความเป็นผู้นำประเทศในเวทีโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างประเทศ การกำหนดยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศไทยด้านต่างๆ เพื่อกำหนดเป้าหมายดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลบูรณาการการดำเนินงานของส่วนราชการและภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพและมีความสอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยไปสู่นานาชาติโดยเฉพาะ 50 เขต 50 ซอฟต์เพาเวอร์ที่ให้พี่น้องประชาชนในชุมชนโดยอาศัยความโดดเด่นของดีของเด่นในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นของไทยในเวทีโลก กรุงเทพมหานครในฐานะเมืองหลวงของประเทศและเป็นศูนย์กลางในด้านต่าง ๆ ควรดำเนินการและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแผนการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของกรุงเทพมหานคร
.
ทั้งนี้ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตตินี้ ได้แก่นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ ห่วงทรัพย์ ส.ก.คลองสามวา กล่าวว่า เขตคลองสามวาเพิ่งได้รับรางวัลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จากกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรางวัลอาหารประจำกรุงเทพมหานคร ปี 2567 ซึ่งคือ “ขนมเหนียว” เป็นซอฟต์เพาเวอร์ของชุมชนแป้นทองที่ได้รางวัล The Lost Taste รสชาติอาหารที่หายไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และเสริมต่อว่า ซอฟต์เพาเวอร์ของกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขตควรมีการสำรวจทั้งเรื่อง อาหาร การแสดง วัฒนธรรม รวมถึงซอฟต์เพาเวอร์ด้านอื่นๆ ที่น่าสนใจ เพื่อพัฒนาให้ประชาชนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พลังละมุนหรือซอฟต์เพาเวอร์เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอิทธิพลกับผู้อื่นโดยไม่ต้องใช้กำลังหรืออำนาจทางกฎหมาย โดยฝ่ายบริหารพร้อมประสานกำลังร่วมกับฝ่ายรัฐบาล โดยกรุงเทพมหานครมีคณะทำงาน คณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดและมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครตัวแทนพี่น้องชาวกรุงเทพมหานครร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้สอดคล้องกับรัฐบาลได้ดียิ่งขึ้น
.
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 16 คน กำหนดเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
———————————

ผู้ชมทั้งหมด 149 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 4 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top