คกก.วิสามัญ สภากทม. พิจารณารายงานผลตัด ปรับ ลด ร่างข้อบัญญัติงบเขตฯ วันแรก
ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : วานนี้ (20 ส.ค.67) นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร โดยในวันนี้เป็นการรายงานผลการพิจารณางบประมาณของประธานคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ระดับเขต ประกอบด้วย 4 คณะ คือ
1. คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักงานเขตพระนคร ดุสิต บางรัก ห้วยขวาง ดินแดง และวังทองหลาง
2. คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักงานเขตบางบอน บางขุนเทียน และราษฎร์บูรณะ
3.คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักงานเขตคลองสาน บางกอกใหญ่ และบางกอกน้อย
4.คณะอนุกรรมการฯ ของสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ และบางพลัด
.
ทั้งนี้ ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้นำผู้บริหารเขตเข้าชี้แจงเหตุผลความจำเป็น และความเหมาะสมการใช้งบประมาณ ประกอบด้วย นายศิริพงษ์ ลิมปิชัย ส.ก.เขตดุสิต ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำผู้บริหารเขตพระนคร ดุสิต บางรัก ห้วยขวาง ดินแดง และวังทองหลาง เข้าชี้แจง จากนั้น นายไสว โชติกะสุภา ส.ก.เขตราษฎร์บูรณะ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำเขตบางบอน บางขุนเทียน และราษฎร์บูรณะ เข้าชี้แจง นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำเขตคลองสาน บางกอกใหญ่ และบางกอกน้อย เข้าชี้แจง และนายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ ส.ก.เขตสัมพันธวงศ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการ นำเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ และบางพลัด เข้าชี้แจง
.
คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสำนักงานเขตพระนครไว้ว่า ในส่วนงานการจัดเก็บรายได้นั้นควรมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นในการจัดเก็บรายได้เพื่อความสะดวก รวดเร็ว แก่เจ้าหน้าที่และประชาชน รวมถึงโครงการอบรมการว่ายน้ำของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา ควรเพิ่มชั่วโมงเรียนจากปีละ 8 ชม. เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและประสิทธิผลในการอบรมมากกว่าการอบรมใหม่ในทุกๆ ปี และเน้นย้ำเขตฯ เกี่ยวกับเอกสารใบเสนอราคาในขั้นตอนของการสืบราคาเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ จะต้องสมบูรณ์ ครบถ้วนทั้งรายการ จำนวน และราคา รวมทั้งต้องมีใบเสนอราคาคู่เทียบที่มีข้อมูลบริษัทหรือร้านค้าชัดเจน
.
คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสำนักงานเขตบางรักเกี่ยวกับการปรับปรุงทางเท้า เนื่องจากบางเขตฯ ซ่อมแล้วสวย คงทน แต่บางเขตฯ ยิ่งซ่อม ยิ่งปรับปรุงกลับทำให้ยิ่งผุพัง จึงขอให้การออกแบบปรับปรุงทางเท้าเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดความคงทนแข็งแรงสวยงามและคุ้มค่ากับเงินงบประมาณที่เสียไป
นายมนูศักดิ์ บินยะฟัล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ชี้แจงเกี่ยวกับรูปแบบมาตรฐานทางเท้าของกทม. ว่า ปัจจุบันได้ปรับปรุงเป็นรูปแบบที่มีความมั่นคงแข็งแรง ส่วนเรื่องความสวยงามนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นที่ว่าจะใช้วัสดุเป็นแบบอย่างไร และมีลวดลายอย่างไร ในเรื่องความมั่นคงแข็งแรงทางเท้าจะมีการเสริมพื้นผิวดินด้วยคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตรเสริมด้วยเหล็กไวร์เมชเพื่อรองรับน้ำหนักได้มากขึ้น ส่วนการแจ้งให้เขตฯ ดำเนินการปรับปรุงตามแบบของสำนักการโยธานั้น ได้ประชุมแนวดิ่งเพื่อชี้แจงเรียบร้อยแล้ว และมีหลายเขตฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงทางเท้าตามแบบของสำนักการโยธาอยู่
.
คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสำนักงานเขตห้วยขวาง ว่า การปรับปรุงเส้นทางท่อระบายน้ำในหมู่บ้านโดยไม่ติดตั้งรางวีนั้น จะทำให้เกิดปัญหาหากฝนตกหนักแล้วน้ำรอการระบาย อาจทำให้เกิดความเดือดร้อนกับบ้านเรือนประชาชนได้
นายประพฤติ หาญกิจจะกุล ส.ก.ห้วยขวาง กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้เป็นท่อระบายน้ำแบบเก่า เกิดการชำรุดเสียหาย จึงได้ปรึกษากับผอ.เขตให้ปรับเปลี่ยนเป็นท่อระบายน้ำขนาดมาตรฐาน และปรับทางน้ำไหลให้ลงสู่บ่อพักหน้าปากซอยแทน
นายเจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. กล่าวเสริมว่า เนื่องจากพื้นที่เป็นซอยแคบทำให้การวางบ่อพักนั้นไม่เพียงพอ ต้องให้ฝ่ายออกแบบคำนวนปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนและบ้านเรือนประชาชน จึงขอให้ฝ่ายโยธาของเขตฯ ควบคุมการดำเนินการให้รอบคอบ
.
ทั้งนี้คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสำนักงานเขตพระนคร ดุสิต บางรัก ห้วยขวาง ดินแดง และวังทองหลาง ได้มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
1. การปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียนจากสุขภัณฑ์แบบนั่งยองเป็นแบบนั่งราบให้คำนึงถึงระบบการจ่ายน้ำของโรงเรียนว่าสามารถรองรับการใช้สุขภัณฑ์แบบนั่งราบได้หรือไม่
2. บ้านหนังสือและลานกีฬาควรมีการบันทึกสถิติการใช้งานเพื่อดูความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อปรับปรุง
3.เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับการดูแลต้นไม้ ตัดไม้ ควรได้รับการอบรมหลักสูตรรุกขกรพร้อมทั้งจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานด้านความปลอดภัย
4 การติดตั้งไฟฟ้าริมคลองควรพิจารณาจุดที่จะทำการติดตั้งให้เหมาะสมและปลอดภัยเพื่อแก้ไขปัญหาการสูญหาย
5.การตั้งงบประมาณในการค่าอาหารทำการนอกเวลาควรพิจารณาให้มีความสอดคล้องกับปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
6. การปรับปรุงพื้นสนามกีฬาเป็นพื้นที่ยางสังเคราะห์เมื่อปรับปรุงเสร็จแล้วต้องกำหนดมาตรการไม่ให้มีการนำรถเข้ามาจอดโดยเด็ดขาดเพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ปรับปรุงเกิดการชำรุดเสียหาย
.
คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสำนักงานเขตบางบอน บางขุนเทียน และราษฎร์บูรณะ ได้มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
1. เจ้าหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างควรตรวจสอบควบคุมงานขุดลอกคูคลองให้เป็นไปตามรูปแบบและข้อกำหนดในสัญญา เพื่อให้งานเป็นมาตรฐานตามแผนและเงื่อนไขที่กำหนดเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าของงบประมาณและเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย
2. การปรับปรุงโรงเรียนควรดำเนินงานในช่วงปิดภาคเรียนและมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน
3. การดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ขนาดเล็กประมาณ 3-4 เมตร ควรมีการจัดระเบียบการจราจรเพื่อลดปัญหาจราจรติดขัดและควรมีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
4. การดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างบ่อพักท่อระบายน้ำควรเป็นบ่อพักระบายน้ำที่มีมาตรฐานสำเร็จรูปไม่ควรหล่อในสถานที่ที่จะก่อสร้างเพราะอาจไม่ได้มาตรฐาน
5. ควรให้หน่วยงานวางแผนในการจำหน่ายครุภัณฑ์ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในการปฏิบัติงาน ควรกำหนดให้ผู้ซื้อรับของที่จำหน่ายต่อเมื่อมีของใหม่มาทดแทน
.
คณะกรรมการวิสามัญฯ ชื่นชม จุดบริการด่วนมหานคร BMA Express Service เขตคลองสาน ควรเป็นต้นแบบให้หลายๆ เขตนำไปปรับใช้ในการดำเนินงาน เนื่องจากสำนักงานเขตคลองสานเลือกสถานีรถไฟฟ้าเป็นจุดให้บริการดังกล่าว ทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากกว่าการไปที่สำนักงานเขตโดยตรง อีกทั้งประชาชนสมารถเข้าถึงบริการได้ง่ายรวดเร็ว จึงทำให้ BMA Express Service เขตคลองสาน มีประชาชนเข้าใช้บริการในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก
.
คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสำนักงานเขตคลองสาน บางกอกใหญ่ และบางกอกน้อย ได้มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
1. การเบิกค่าล่วงเวลาของบุคลากรในหน่วยงาน เน้นย้ำให้หน่วยงานดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำนักงบประมาณกำหนดพร้อมทั้งให้มีหลักฐานในการเบิกจ่ายที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
2. การของบประมาณสำหรับการปรับปรุงซ่อมแซมพื้นที่หรือการจัดโครงการต่างๆ ในชุมชน หน่วยงานควรมีการบูรณาการความคิดร่วมกับประชาชนในชุมชนให้มากขึ้นและชี้แจงหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานตามระเบียบราชการให้ประชาชนเข้าใจเพื่อกำหนดวัตถุประสงค์และความเข้าใจที่ตรงกันก่อนดำเนินงานและลดการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างหน่วยงานและชุมชน
3. เขตฯ ควรเสนอรายการครุภัณฑ์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องจัดซื้อทดแทนและขอให้เป็นไปตามความเป็นจริง
4. หน่วยงานควรมีแนวคิดเกี่ยวกับการออกข้อบัญญัติการจัดเก็บภาษีสำหรับสถานีชาร์จรถพลังงานไฟฟ้าของกรุงเทพมหานครเนื่องจากเล็งเห็นว่าในอนาคตประชาชนจะปรับเปลี่ยนไปใช้รถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น
5. สถานศึกษาของกรุงเทพมหานครควรขอจัดสรรงบประมาณสำหรับการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าและประหยัดค่าใช้จ่าย
6. การเสนอขอตั้งงบประมาณค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างของโรงเรียน ควรเป็นหน้าที่ของเขตฯ พื้นที่นั้น ๆ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้ตรงตามความต้องการของโรงเรียน
7. เขตฯ ควรรวบรวมปัญหาและความเดือดร้อนของชุมชนในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ โดยรวบรวมความคิดเห็นของแต่ละชุมชนเพื่อหาแนวทางวิธีแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนหากมีความจำเป็นต้องของบประมาณ จะได้เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงกับปัญหา
8. เพื่อการพัฒนาชุมชนให้เกิดขึ้นและปัญหาน้อยลง เขตฯ ควรกำหนดว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ เนื่องจากชุมชนมีความต้องการที่หลากหลายควรมีการสอบถามและมีมติก่อนการจัดซื้อจัดจ้างให้ตรงกับความต้องการในบริบทที่แตกต่างกันของพื้นที่รวมถึงความพร้อมของแต่ละชุมชน
.
คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ และบางพลัด ได้มีข้อสังเกตสำหรับหน่วยงาน ดังนี้
1. การพิจารณางบปรับปรุงทางเท้าใหม่ควรพิจารณาค่าชำรุดไม่ถึง 70% และให้ซ่อมแซมเป็นจุดจุด สภาพภูมิทัศน์ เช่น ทางเท้าในย่านการค้าย่านธุรกิจและย่านอุตสาหกรรมควรปรับปรุงทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาโดยมองในภาพรวมของบริบทของพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เพราะการซ่อมแซมเฉพาะจุดเป็นการปะทำให้ดูไม่สวยงาม
2. ควรให้มีการติดตามประเมินหลักสูตรการเรียนสองภาษาให้นักเรียนสามารถพูดอ่านเขียนตามเกณฑ์ เพื่อให้งบประมาณที่ได้รับคุณค่า เป็นการยกระดับการศึกษาของกรุงเทพมหานครต่อไป
3. เขตฯ ควรพิจารณาความคุ้มค่าและความคงทนอายุการใช้งานของการใช้แอสฟัลด์หรือคอนกรีตและการปรับปรุงถนนปากซอย
4. เมื่อเขตฯ ได้รับงบประมาณแล้ว ควรเร่งรัดดำเนินการก่อหนี้ผูกพันโดยเร็วเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าของงบประมาณ
5. การเสนอขอตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการปรับปรุงหรือขุดลอกคลอง หากมีจำนวนน้อย เขตฯ ควรคำนึงว่าสามารถดำเนินการหาตัวผู้รับจ้างได้จริงหรือไม่
6. การปรับปรุงอาคารพละศึกษา โรงเรียนบางยี่ขัน เขตบางพลัด เมื่อดำเนินการปรับปรุงแล้วเขตฯ และโรงเรียนควรมีการบริหารจัดการให้เกิดการใช้อาคารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าของงบประมาณ
7. เขตฯ ควรตรวจสอบการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการอย่างเคร่งครัด โดยให้เบิกจ่ายค่าล่วงเวลากับผู้มาปฏิบัติงานจริงเท่านั้น
8. การจัดซื้อทีวีสำหรับใช้การจัดการเรียนการสอนทางโรงเรียนเสนอขอจัดซื้อในขนาด 55 นิ้วซึ่งมีขนาดเล็ก ทำให้นักเรียนที่อยู่ในหลังห้องอาจจะไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ควรคำนึงถึงจุดติดตั้งว่าเหมาะสมหรือไม่ และควรเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียความคุ้มค่าของทีวี กระดานอัจฉริยะและกระดานปกติว่าอะไรมีความเหมาะสมใช้ประโยชน์ สามารถสื่อการสอนได้ดีที่สุด
9. การปรับปรุงทางเท้าควรคำนึงถึงความปลอดภัยควบคู่กับความสวยงามให้เป็นไปตามมาตรฐาน และสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้
10. การปรับปรุงซอกซอยถนนของเขตฯ ควรมีการประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เช่น การประปา การไฟฟ้าและการจัดทำแผนร่วมกันเพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกัน และควรมีการดำเนินการเมื่อการประปาซ่อมถนนแล้วให้คืนอยู่ในสภาพเดิม
11. ตามประมาณการจัดเก็บภาษีป้ายปี 2568 มีการประมาณการที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการประมาณการมากกว่าที่เขตฯ จะทำได้ตามกำหนด การจัดเก็บรายได้ควรคำนึงถึงสภาพพื้นที่จริงและความสามารถของเขตฯ ที่จะดำเนินการได้ต่อไป
——————————
ผู้ชมทั้งหมด 167 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง