skip to Main Content
ตั้ง คกก.วิสามัญฯ พิจารณาร่างข้อบัญญัติผังเมืองรวมกรุงเทพฯ

ตั้ง คกก.วิสามัญฯ พิจารณาร่างข้อบัญญัติผังเมืองรวมกรุงเทพฯ

(29 ม.ค. 68) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2568 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
📌นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติ เรื่อง ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. โดยกล่าวว่า หลักการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ เหตุผลด้วยกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักใช้มาเป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ สมควรปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อส่งเสริมการเดินทาง ด้วยระบบขนส่งมวลชนทางราง ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพ การเดินทางและช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคน้ำประปา เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต และประสิทธิภาพในการจ่ายน้ำให้เพียงพอและสอดคล้องกับการขยายตัวของเมือง และเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการก่อสร้างให้ผู้ประกอบการและภาครัฐสามารถตั้งหน่วยงานคอนกรีตผสมเสร็จชั่วคราวในหน่วยงานก่อสร้างหรือบริเวณใกล้เคียง อันเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองทั้งภาครัฐและเอกชน และเพื่อเพิ่มศักยภาพการบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขให้กับประชาชน กรุงเทพมหานครจึงขอเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ให้ใช้บังคับผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร พ.ศ. เพื่อขอรับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร
.
⭐️จากนั้น สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายในญัตตินี้ ได้แก่ นายฉัตรชัย หมอดี ส.ก.เขตบางนา กล่าวว่า เขตบางนามีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าจำนวนมาก อีกทั้งยังมีโรงปูน มีรถบรรทุกวิ่งประมาณ 3,000 – 5,000 คันต่อวัน ทำให้เกรงว่าเมื่อกฎหมายข้อนี้ประกาศใช้จะทำให้โรงปูนที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นในหลาย ๆ เขต เข้ามาแทนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในพื้นที่มากขึ้นและจะทำให้ยิ่งมีรถบรรทุกเข้ามาในพื้นที่สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน และอาจทำให้กรุงเทพมหานครมีฤดูกาลฝุ่นเพิ่มมากขึ้น
.
⭐️ด้านนายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา ให้ความเห็นว่า ร่างข้อบัญญัติฉบับนี้จะเป็นการยกเลิกแพล้นท์ปูนชั่วคราวรวมถึงการตั้งโรงปูนในกรุงเทพมหานครจะต้องมีมาตรฐานโรงงานมาควบคุม แต่จากรายงานการประชุมของคณะกรรมการการผังเมืองจังหวัดกรุงเทพมหานคร พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นการพูดถึงการควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศไม่ว่าจะเป็นฝุ่นหรือเสียง และเพิ่มความสูงของรั้วจากเดิมให้เป็น 6 เมตร สแลนกรอง 4 เมตร รวมเป็น 10 เมตร ซึ่งในรายงานการประชุมส่วนมากเป็นการกล่าวถึงโรงปูนเพียงอย่างเดียว แต่โรงงานที่มีผลกระทบกับสภาพอากาศยังมีโรงงานโลหะ โรงงานผลิตน้ำ และโรงงานอื่น ๆ อีกด้วย
.
⭐️นายสุทธิชัย วีระกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ให้ความเห็นว่า ปัญหาแพล้นท์ปูนในพื้นที่กทม.มีเยอะมาก ทั้งในเขตสายไหม คลองสามวา ฯลฯ ซึ่งได้มีการอภิปรายปัญหานี้มาหลายครั้ง โดยข้อบัญญัติฉบับนี้สามารถตั้งแพล้นท์ปูนในทุกระยะ 5 กิโลเมตร คาดว่าจะทำให้เกิดความเดือดร้อนของประชาชนตามมา
.
⭐️ด้านนายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท ให้ความเห็นว่า การออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเพื่อไปยกเลิกกฏกระทรวงนั้นทำได้หรือไม่ เพราะตามศักดิ์ของกฎหมายกฎกระทรวงออกโดยรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารต้องพิจารณาให้ดีก่อนที่จะมีการดำเนินการขั้นต่อไป
.
✏️นายอาสา ทองธรรมชาติ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ชี้แจงว่า ข้อบัญญัติสามารถออกแทนกฎกระทรวงได้ โดยเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562 เหตุผลที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพราะกฎกระทรวงนั้นค่อนข้างเก่าควรมีการปรับให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนในเรื่องแพล้นท์ปูนนั้นสามารถตั้งได้โดยกรมโรงงานแจ้งว่าเป็นกิจการพิเศษที่สามารถทำกิจการชั่วคราวได้ แต่กรมโรงงานไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายกับแพลนท์ปูนที่ไม่ได้จัดตั้งเป็นโรงงานได้ ซึ่งจะทำให้แพล้นท์ปูนชั่วคราวหมดไปจากกทม.เหลือเพียง 58 แห่ง ที่ตั้งเป็นโรงงานเท่านั้นทำให้เศรษฐกิจ สังคม การพัฒนาเมืองทั้งภาครัฐและเอกชนล่าช้า ซึ่งกรมโรงงานได้ขอให้กทม.ปรับแก้ไขพรบ.ผังเมืองมาเป็นข้อบัญญัติตามลำดับ
.
✏️นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า แต่เดิมแพล้นท์ปูนเป็นโรงงานชั่วคราวไม่ถือว่าเป็นโรงงานจึงทำให้กรมโรงงานบังคับใช้กฎหมายกรมโรงงานได้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงออกกฎหมายให้แพลนท์ปูนเป็นโรงงานเพื่อให้มีกฎหมายควบคุม แต่เกิดปัญหาเมื่อตั้งเป็นโรงงานแล้วทำให้ขัดกับผังเมืองที่ห้ามมีโรงงานดังกล่าว จึงมีการแก้ไขให้แพล้นท์ปูนอยู่ในบางพื้นที่ที่กำหนดได้
.
⭐️นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี กล่าวว่า การแก้ไขข้อบัญญัติดังกล่าวควรผ่านประชาพิจารณ์จากประชาชนของกรุงเทพมหานครก่อน เนื่องจากที่ผังเมืองกำหนดพื้นที่สีเขียว พื้นที่หนาแน่นน้อยค่อนข้างเยอะและจะให้แพล้นท์ปูนมาลงในพื้นที่เหล่านั้นจะยิ่งทำให้เกิดความเดือดร้อนของประชาชนมากขึ้น ซึ่งหากตั้งในพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่อนุรักษ์จะยิ่งสร้างมลพิษมากกว่า จากนั้นนางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง ให้ความเห็นว่า การบังคับใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครนั้นเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้เมืองนั้นน่าอยู่ เป็นการแก้ไขเรื่องต่าง ๆ หลายเรื่องแต่สิ่งที่สงสัยมีหลายเรื่องแต่ในที่นี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องแพล้นท์ปูน ซึ่งหากมีการแก้ให้แพลนท์ปูนเป็นโรงงานแล้วนั้นจะทำให้เกิดโรงงานมากขึ้นหรือไม่ ตัวอย่างเช่นในเขตดอนเมืองมีแพล้นท์ปูนหนึ่งแห่งซึ่งตั้งอยู่ระแวกคอนโดมีฝุ่นละอองตลอดหลายปี กรุงเทพมหานครจึงควรรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนรวมถึงสมาชิกสภากรุงเทพมหานครให้มีความเข้าใจในรายละเอียดของผังเมืองมากขึ้น ด้านนายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล ส.ก.เขตห้วยขวาง กล่าวว่า เขตห้วยขวางมีแพล้นท์ปูนมากที่สุดในกทม. มีการร้องเรียนจากประชาชนตลอดเวลา ซึ่งหากแพล้นท์ปูนเหล่านี้กลายเป็นโรงงานที่ถูกกฎหมายอาจจะมีโรงงานปูนเล็ก ๆ เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาเมืองมาก ซึ่งหากข้อบัญญัตินี้ออกไปอาจทำให้ประชาชนสงสัยในการทำงานของสภากรุงเทพมหานครได้
.
💡จากนั้นที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. จำนวน 17 ท่าน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 45 วัน กำหนดระยะเวลาการพิจารณา 90 วัน
———————————

ผู้ชมทั้งหมด 30 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 10 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top