skip to Main Content
ส.ก.สายไหม ขอกทม.ออกแบบสถานีดับเพลิงให้สอดคล้องกับพื้นที่

ส.ก.สายไหม ขอกทม.ออกแบบสถานีดับเพลิงให้สอดคล้องกับพื้นที่

(22 ม.ค. 68) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2568 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
นางสาวรัตติกาล แก้วเกิด ส.ก. เขตสายไหมได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณารูปแบบการก่อสร้างและปรับปรุงสถานีดับเพลิงและกู้ภัยของกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับจำนวนประชากร ลักษณะทางกายภาพ และมีความเหมาะสม ต่อการใช้งานในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับการก่อสร้าง สถานีดับเพลิงและกู้ภัย โดยการออกแบบก่อสร้างพิจารณาตามสัดส่วนประชากร ได้มาตรฐานสำหรับปฏิบัติงาน และมีการปรับปรุงสถานีดับเพลิงและกู้ภัยเดิมที่ชำรุดทรุดโทรมให้ทันสมัย มีที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่ เพื่อเพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพในการดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน แต่ในการดำเนินการปรากฏว่าหน่วยงานรับผิดชอบมีการยกเลิกโครงการหรือมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้าง ทำให้การดำเนินการล่าช้าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และไม่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เช่น สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีดับเพลิงและกู้ภัยสายไหม โดยพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในที่ดินราชพัสดุบริเวณถนนเลียบคลองสองลาดพร้าว ซอยพหลโยธิน 54/1 แต่ประสบปัญหาในพื้นที่ก่อสร้างมีผู้ปลูกบ้านรุกล้ำเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างตามแผนการและรูปแบบที่กำหนดไว้ จึงมีแผนจะปรับรูปแบบการก่อสร้างในพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งทำให้อาคารสถานีดับเพลิงและกู้ภัยมีขนาดเล็กลงและไม่มีอาคารที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน เพราะเขตสายไหมมีพื้นที่กว่า 44 ตารางกิโลเมตร ประชากรจำนวนกว่า 200,000 คน บ้านเรือน จำนวน 110,150 หลัง และชุมชน จำนวน 79 ชุมชน ดังนั้น การพิจารณารูปแบบการก่อสร้างและการปรับปรุงสถานีดับเพลิงและกู้ภัยควรต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและมีความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ จึงขอให้กรุงเทพมหานคร พิจารณารูปแบบการก่อสร้างและปรับปรุงสถานีดับเพลิงและกู้ภัยของกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับจำนวน ประชากร ลักษณะทางกายภาพ และมีความเหมาะสมต่อการใช้งานในแต่ละพื้นที่
นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก. เขตดอนเมือง กล่าวสนับสนุนในญัตตินี้ โดยยกตัวอย่างสถานีดับเพลิงเขตสายไหมที่เมื่อสร้างเสร็จเรียบแล้ว แต่การเข้าออกของรถดับเพลิงไม่สะดวกต้องแก้ไขแบบอยู่หลายครั้งจนต้องขอพื้นที่เพิ่มเติม จึงควรเน้นเรื่องการออกแบบให้ใช้งานได้จริง ไม่ต้องแก้ไขเมื่อแล้วเสร็จ และไม่ต้องขอขยายเวลาและกันเงินเหลื่อมปี
นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก. เขตมีนบุรี กล่าวสนับสนุนในญัตตินี้เช่นเดียวกัน โดยเสนอว่าสถานีดับเพลิงของกรุงเทพฯปัจจุบันมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ย้ำให้คำนึงถึงองค์ประกอบของสถานีพร้อมอุปกรณ์ที่ครบถ้วนตามหลักการที่นานาประเทศได้ใช้งาน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที และมีหน่วยกู้ภัยอยู่ในสถานที่เดียวกัน ตลอดจนการเตรียมตัวฝึกฝนการช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา เพราะสถานที่ฝึกอยู่ภายในสถานี
นางอนงค์ เพชรทัต ส.ก. เขตดินแดง กล่าวสนับสนุนในญัตตินี้โดยเน้นย้ำเรื่องการเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุด เพราะกทม. เป็นเมืองใหญ่ และขอให้ฝ่ายบริหารเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างสถานีดับเพลิงสุทธิสารให้แล้วเสร็จ พร้อมด้วยนายตกานต์ สุนนทวุฒิ ส.ก. เขตหลักสี่ กล่าวสนับสนุนในญัตตินี้ เช่นเดียวกันกับนายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก. เขตทุ่งครุ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้อนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก ปัญหาเรื่องการปรับแบบ เช่น สถานีดับเพลิงสุทธิสารสามารถดำเนินการก่อสร้างได้เลย ในส่วนรายละเอียดขอให้รองผู้ว่าทวิดาได้อธิบายเพิ่มเติม
รศ. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในบางสถานีมีปัญหาเรื่องข้อจำกัดด้านพื้นที่จริง รวมถึงไม่มีแบบมาตรฐานในการก่อสร้างสถานีดับเพลิงมาตั้งแต่แรก อาจทำให้มีปัญหาในการทำแบบซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาล่าช้าในการดำเนินงาน และมีการจัดอันดับความเปราะบางของพื้นที่ และพื้นที่ที่อาจเกิดเหตุเพลิงไหม้โดยง่าย ก็จะถูกจัดอันดับในการดำเนินการ และมีการดำเนินการแจกจ่ายถังดับเพลิงไปมากกกว่า 80,000 ถัง ตามชุมชนแยกย่อยต่าง ๆ ในส่วนของการดำเนินการสร้างอาคารสถานีดับเพลิงพร้อมอาคารบ้านพัก 7 ชั้น อยู่ในอาคารเดียวกันก็ได้ดำเนินการสร้างแบบแล้ว
ในส่วนของสถานีดับเพลิงสายไหมขณะนี้มีปัญหาและอุปสรรคในการก่อสร้างเนื่องจากบริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานมีบ้านเรือนบุกรุกจำนวน 25 หลังคาเรือน หากจะก่อสร้างตามแบบเดิมต้องมีการเจรจากับผู้บุกรุกเพื่อขอใช้พื้นที่ซึ่งคาดว่าจะจะใช้ระยะเวลาพอสมควร แนวทางในการแก้ปัญหาโดยการปรับแบบและสามารถดำเนินการสร้างได้ทันทีโดยใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพลดความเสี่ยงและยังคงวัตถุประสงค์ของโครงการก่อสร้างอาคารสถานีดับเพลิงและกู้ภัยสายไหมได้ดังเดิม ส่วนอาคารบ้านพักชะลอการก่อสร้างจนกว่าจะมีการเจรจาผู้บุกรุกเรียบร้อยแล้ว โดยในระยะเริ่มต้นจัดสรรให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีดับเพลิงสายไหมพักในอาคารบ้านพักอื่นใกล้เคียง เช่น สถานีดับเพลิงอื่น หรือบ้านพักส่วนกลางกทม. เป็นต้น
ในการดำเนินการก่อสร้างสถานีดับเพลิงหลักสี่นั้น จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2569 เนื่องจากจำเป็นจะต้องประสานกับการไฟฟ้านครหลวงในการย้ายหม้อแปลงให้แล้วเสร็จก่อนและจะดำเนินการสร้างในศูนย์ราชการ ส่วนสถานีดับเพลิงทุ่งครุนั้นจะเร่งดำเนินการสร้างอาคารที่พักให้เจ้าหน้าที่ให้แล้วเสร็จ
ในการนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีมติเห็นชอบและให้ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครพิจารณาต่อไป
———

ผู้ชมทั้งหมด 17 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 17 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top