skip to Main Content
ส.ก.พญาไท ขอกทม.เคร่งรัดการออกใบอนุญาตก่อสร้าง

ส.ก.พญาไท ขอกทม.เคร่งรัดการออกใบอนุญาตก่อสร้าง

(22 ม.ค. 68) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2568 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
นายพีรพล กนกวลัย ส.ก. เขตพญาไท เสนอญัตติด้วยวาจา เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครตรวจสอบการอนุญาตและควบคุมการก่อสร้างอาคารให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยกล่าวว่า การออกใบขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้นค่อนข้างยากเนื่องจากการขอใบอนุญาตใช้เวลา 45-60 วัน ในบางกรณีวันที่ 59 เจ้าหน้าที่แจ้งผู้ขออนุญาตว่าเอกสารผิดให้ส่งเอกสารใหม่ ทำให้การตรวจสอบต้องนับหนึ่งใหม่อีกครั้งและเมื่อจะครบ 60 วันเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเอกสารผิดอีกจุดไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้เกิดความล่าช้า และเมื่อมีการออกใบอนุญาตไปแล้วนั้นต้องมีการกำกับควบคุมดูแลให้ตรงตามใบอนุญาต ซึ่งหลายอาคารมีการกระทำผิดกฎหมาย เช่น อาคารที่มีขนาดใหญ่พิเศษต้องมีพื้นที่หน้าอาคาร 12 เมตร ถนนหน้าอาคารกว้าง 10 เมตร ต้องทำ EIA อาคารที่อยู่ริมถนนที่มีความกว้างไม่เกิน 6 เมตร จะต้องมีระยะล่นกึ่งกลางถนนไม่น้อยกว่า 3 เมตร เป็นต้น โดยในกฎกระทรวงยังมีการกำหนดระยะล่นทั้งด้านข้างและด้านหลังอาคารอีกด้วย ซึ่งมีอาคารที่ก่อสร้างตรงข้ามกระทรวงการคลังได้ก่อสร้างกำแพงติดกับเสาไฟฟ้าทำให้ไม่เหลือพื้นที่ทางเท้า ประชาชนต้องลงเดินบนถนน ที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากประชาชนแต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีการขออนุญาตถูกต้อง จึงขอให้กทม.ออกใบอนุญาตและควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งคัด
.
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า อาคารดังกล่าวเป็นอาคารใหญ่ที่ไม่ใช่ขนาดใหญ่พิเศษ พื้นที่อาคารรวมก่อสร้าง 3,532 ตารางเมตร ขออนุญาตถูกต้องตามกฎกระทรวงเพราะการวัดระยะล่นนั้นจะวัดจากตัวอาคารไม่ได้วัดจากกำแพง โดยไม่ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นไปตามกฎกระทรวงและพรบ.ควบคุมอาคาร เนื่องจากก่อนการขออนุญาตต้องให้กรมที่ดินตรวจสอบโฉนดและรังวัดที่ดินก่อน ซึ่งหมุดของที่ดินตามโฉนดนั้นอยู่บนถนน และสำนักงานเขตได้ตรวจสอบพื้นที่โดยรอบแล้วพบว่าพื้นที่เดิมไม่มีทางเท้า โดยสำนักงานเขตได้ขอสงวนที่ดินบางส่วนไว้เพื่อทำเป็นทางเท้าแล้วโดยมีความกว้างประมาณ 29-60 เซนติเมตร
.
ในการนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีมติเห็นชอบและให้ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครพิจารณาต่อไป
——————-

ผู้ชมทั้งหมด 22 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 22 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top