skip to Main Content
“เมธาวี” ห่วงคุณภาพตู้น้ำดื่มทั่ว กทม. ฝากฝ่ายบริหารดำเนินการด่วน

“เมธาวี” ห่วงคุณภาพตู้น้ำดื่มทั่ว กทม. ฝากฝ่ายบริหารดำเนินการด่วน

วันที่ 2 กรกฎาคม 2568  การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 1)  ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา น.ส.เมธาวี ธารดำรงค์ ส.ก. เขตปทุมวัน ยื่นญัตติขอให้กรุงเทพมหานครเข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพของตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ

 

น.ส.เมธาวี กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราให้เอกชนติดตั้งตู้น้ำดื่มแบบรายปี แต่พบว่ามีตู้น้ำจำนวนมากที่ชำรุดและไม่ทราบว่ากรุงเทพมหานครได้ลงพื้นที่ตรวจสอบหรือไม่ เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาว่าตู้น้ำดื่มหลายแห่งมีสภาพสกปรกและเสื่อมโทรม ทั้งนี้ชุมชนที่มีรายได้น้อยยังคงจำเป็นต้องใช้บริการตู้น้ำเหล่านี้ แต่กลับต้องเผชิญกับความไม่ปลอดภัยในชีวิต

 

น.ส.เมธาวี ยังกล่าวถึงอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการเปลี่ยนไส้กรองของตู้น้ำ และมีข้อสงสัยว่าตู้น้ำดื่มเหล่านี้ได้รับอนุญาตติดตั้งจากสำนักงานเขตอย่างถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้ เมื่อไปตรวจสอบแล้วพบว่าตู้น้ำไม่สามารถใช้งานได้ ควรมีสัญลักษณ์แจ้งเตือนให้ประชาชนงดใช้บริการหรือไม่ จึงอยากฝากให้มีการตรวจตราตู้น้ำดื่มอย่างจริงจัง เพราะน้ำดื่มเป็นสิ่งสำคัญต่อคนในชุมชน โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนผู้มีรายได้น้อยต้องพึ่งพาตู้น้ำเหล่านี้ ตนดีใจที่มีนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ให้มีตู้น้ำดื่มในจุดที่สามารถติดตั้งได้

 

“การตรวจคุณภาพน้ำดื่มไม่ควรจำกัดอยู่แค่ในโรงพยาบาลหรือห้างสรรพสินค้า แต่ต้องเน้นที่ชุมชน เพราะประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นอาจไม่มีเวลาหรือความสามารถในการตรวจสอบด้วยตนเอง จึงอยากฝากผู้บริหารกรุงเทพมหานครให้ช่วยดูแล เพราะคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนผู้มีรายได้น้อยเป็นสิ่งที่เราควรใส่ใจ เพื่อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนก็ลำบากอยู่แล้ว หากต้องมาเจอปัญหาเช่นนี้อีก ในฐานะสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พวกเราซึ่งได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ก็ต้องทำหน้าที่ร่วมกับฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานคร” น.ส.เมธาวี กล่าว

 

ด้านนายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก. เขตทุ่งครุ ได้หยิบยกประเด็นสภาพตู้น้ำดื่มในโรงเรียนเขตทุ่งครุขึ้นมาอภิปรายว่า ตนเคยลงพื้นที่ตรวจดูโรงเรียนต่างๆ หลังจากมีข่าวตู้น้ำดื่มไฟรั่วที่จังหวัดหนึ่ง เมื่อไปถึงโรงเรียนก็ได้รับแจ้งว่าได้ถอดปลั๊กออกหมดแล้ว แต่เมื่อลองไปกดดูก็พบว่ายังมีน้ำไหลอยู่

 

“ตนไม่แน่ใจว่าอำนาจของกรุงเทพมหานครสามารถทำอะไรได้บ้างกับตู้ที่วางอยู่บริเวณหอพักหรือพื้นที่เอกชน จึงอยากฝากให้ฝ่ายบริหารมีมาตรการเข้าไปตรวจสอบ เพื่อที่จะสามารถลดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าลงได้” นายกิตติพงศ์ กล่าว

 

นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก. เขตจอมทอง กล่าวเสริมว่า ตนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเกี่ยวกับตู้กดน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เราจะเห็นพี่น้องประชาชนมากดน้ำจากตู้เพื่อนำไปใช้ในครัวเรือน แต่บางแห่งมีสภาพเก่าและชำรุดมาก จึงไม่แน่ใจว่ามีการตรวจสอบคุณภาพจากฝ่ายสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะหากน้ำดื่มไม่สะอาดบริสุทธิ์พอก็จะเป็นภัยร้ายต่อร่างกายมนุษย์ จะเห็นได้ว่าตู้กดน้ำที่ติดตั้งตามโรงเรียนหรือที่ต่างๆ มีสนิมขึ้นและผุกร่อน ซึ่งหมายความว่าตู้ถูกใช้งานมาเป็นเวลานาน และอาจไม่มีการติดตั้งสายดิน พวกเราไม่อยากเห็นเหตุการณ์ที่เด็กนักเรียนกดน้ำแล้วเสียชีวิต ซึ่งหากเราไม่ตรวจตราก็อาจจะเกิดขึ้นได้

 

“เราควรต้องตรวจสอบคุณภาพน้ำ และตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ ต้องช่วยกันดูแล ถ้าน้ำไม่สะอาด มันก็คือยาพิษดีๆ นี่เอง” นายสุทธิชัย กล่าว

 

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องน้ำดื่มเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันประชาชนจำเป็นต้องเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดและราคาถูก

 

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า เรื่องนี้เป็นภารกิจของสำนักอนามัยและสำนักงานเขตที่ต้องควบคุมดูแล โดยเขตลาดกระบังเป็นเขตที่มีตู้กดน้ำมากที่สุด ส่วนในเขตปทุมวัน พบว่ามีผู้ประกอบการนำตู้กดน้ำมาให้บริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตถึง 69 แห่ง ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการดำเนินการ และที่เขตสายไหมก็มีอีก 19 แห่ง ทั้งนี้ ในรอบการตรวจทุก 4 เดือน จะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำ สุขลักษณะ และเชื้อแบคทีเรีย หากตรวจไม่ผ่านจะมีการออกประกาศห้ามใช้ และผู้ประกอบการต้องแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนจึงจะกลับมาให้บริการได้

 

“จะต้องมีการตรวจสอบทั้งบริเวณโดยรอบของตู้กดน้ำด้วย หากพบการปนเปื้อน จะต้องสั่งหยุดใช้เพื่อปรับปรุงและมีการตรวจซ้ำอีกครั้ง” รศ.ทวิดา กล่าว

 

รศ.ทวิดา กล่าวว่า นอกจากการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนแล้ว ต่อไปเราจะพัฒนาระบบให้สามารถสแกน QR Code ที่ตู้เพื่อรายงานปัญหาได้โดยตรง ซึ่งจะเชื่อมกับระบบของ Traffy Fondue ทำให้ประชาชนใช้งานได้ง่ายขึ้น และจะขอความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุข ของเราให้ช่วยดูแลอีกทางหนึ่ง ท้ายที่สุด เราจะทำให้สติกเกอร์แสดงผลการตรวจมีความเด่นชัดขึ้น

 

นอกจากนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังกล่าวว่า ส่วนตู้น้ำในโรงเรียน เรามีการตรวจก่อนเปิดภาคเรียน โดยจะตรวจวัดค่าคลอรีนอิสระ ทั้งในน้ำก่อนเข้าถังพักและน้ำที่จ่ายออกจากถัง ซึ่งมีโรงเรียนผ่านเกณฑ์อยู่ 96% รวมถึงน้ำที่ใช้ในการปรุงอาหารด้วย

 

“ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือความสกปรกในตู้กักเก็บน้ำ จะกำชับให้มีการตรวจสภาพกายภาพโดยรอบ ทั้งเรื่องระบบไฟฟ้าและปัญหาสนิม และจะรายงานผลให้ทราบต่อไป” รศ.ทวิดา กล่าว

 

น.ส.เมธาวี กล่าวขอบคุณฝ่ายบริหารที่เห็นความสำคัญของตู้น้ำดื่ม ตนเฝ้ามองปัญหานี้มาหลายปี ตอนแรกตั้งใจว่าจะไม่ยื่นญัตติ แต่ทนไม่ได้เมื่อเห็นสภาพตู้น้ำดื่มที่ไม่ได้รับการดูแล หากเอกชนเป็นผู้มาติดตั้ง ตนอยากฝากประธานสภากรุงเทพมหานคร ถึงฝ่ายบริหารให้ช่วยตรวจสอบ หากตู้ใดไม่ได้รับอนุญาต จำเป็นต้องติดตามเจ้าของมาดำเนินการ เพราะตนไม่เชื่อว่าจะตามหาเจ้าของตู้น้ำไม่เจอ

 

จากนั้นที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบให้ส่งมอบญัตติดังกล่าวให้ฝ่ายบริหารดำเนินการต่อไป

ผู้ชมทั้งหมด 26 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 26 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top