skip to Main Content
กทม. เตรียมบังคับใช้กฎหมายแยกขยะในโรงเรียน 437 แห่ง พร้อมส่งเสริมการนำขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ยหมักและก๊าซหุงต้ม ลดขยะล้นเมือง

กทม. เตรียมบังคับใช้กฎหมายแยกขยะในโรงเรียน 437 แห่ง พร้อมส่งเสริมการนำขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ยหมักและก๊าซหุงต้ม ลดขยะล้นเมือง

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ดร.เมธาวี ธารดำรงค์ สมาชิกสภากรุงเทพฯ (สก.) เขตปทุมวัน ได้เสนอให้โรงเรียนในสังกัด กทม. คัดแยกขยะและนำขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์ ปัจจุบัน โรงเรียนใน กทม. 434 แห่ง มีเพียงร้อยกว่าโรงเรียนที่คัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ โดยส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนในชุมชนแออัดยังไม่มีระบบการคัดแยกที่ชัดเจน
.
ดร.เมธาวี กล่าวว่า “ปัญหาขยะเป็นเรื่องสำคัญของกรุงเทพฯ และการแก้ปัญหาต้องเริ่มจากครอบครัวและโรงเรียน โดยเสนอให้ทุกโรงเรียนสอนนักเรียนแยกขยะอย่างละเอียด เช่น การคัดแยกกล่องนมและขวดพลาสติกอย่างถูกต้อง” นอกจากนี้ ยังเสนอให้นำขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร ไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ยหมัก หรือเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะและสร้างจิตสำนึกให้เด็กๆ เห็นความสำคัญของการแยกขยะ
.
ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า การแยกขยะเป็นนโยบายสำคัญของ กทม. และมีแผนจะบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยขณะนี้ได้กำหนดให้โรงเรียนทั้ง 437 แห่งในสังกัด กทม. แยกขยะอย่างถูกต้อง “เราจะทำให้โรงเรียนเป็นต้นแบบ พร้อมผลักดันให้เป็นนโยบายที่ทุกโรงเรียนต้องปฏิบัติตาม คาดว่าในปีการศึกษาที่จะถึงนี้จะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นระบบ” นายศานนท์ กล่าว
.
ทั้งนี้ ขยะมูลฝอยถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. ขยะทั่วไป 2. ขยะรีไซเคิล 3. ขยะอันตราย 4. ขยะอินทรีย์ โดยขยะอินทรีย์ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในโรงเรียนได้หลายวิธี เช่น
ผลิตก๊าซหุงต้มใช้ในโรงอาหาร, ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ, ใช้เป็นอาหารไส้เดือน ใช้เป็นปุ๋ยมูลสัตว์ เป็นต้น
.
นอกจากนี้ นายศานนท์ ยังกล่าวถึงนโยบายไม่เทรวมของกทม. ซึ่งแตกออกมาเป็น 7 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โรงเรียน Eco-life จำนวน 9 โรงเรียน 2. โรงเรียนไร้ถัง จำนวน 10 โรงเรียน 3. โรงเรียนกล่องนมรักษ์โลก จำนวน 52 โรงเรียน 4. โรงเรียนรักษ์โลก 15 โรงเรียน 5. โรงเรียนที่ร่วมกิจกรรม 278 โรงเรียน 6.โรงเรียนต้นแบบบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน จำนวน 108 โรงเรียน และสุดท้าย โรงเรียนต้นแบบบริการจัดการขยะ 26 โรงเรียน อย่างไรก็ดี นโยบายเทรวมของกทม.ได้รับความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศหลาย ๆ องค์กร อาทิ GIZ, UNDP, ม.มหิดล , CPALL ฯลฯ
.
ด้านดร.เมธาวี กล่าวว่า ตนเดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนในกรุงเทพฯ มาหลายโรงเรียน และหลายโรงเรียนคัดแยกขยะกันได้ในระดับดีมาก ในวันนี้ที่ได้ฟังนโยบายของกทม. ซึ่งมีความพร้อม ตนรู้สึกดีใจ และหวังว่าปีการศึกษาหน้าจะได้เห็นสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนทั่วกรุงเทพฯ และทิ้งท้ายว่าเราต้องฝึกเด็กของเรานับตั้งแต่วันนี้ ให้เขาเข้าใจว่าการคัดแยกขยะเป็นเรื่องสำคัญในการใช้ชีวิต
.
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในเรื่องนี้ และ จะส่งต่อให้ฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานครเดินหน้าตามนโยบายดังกล่าวต่อไป

ผู้ชมทั้งหมด 60 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 60 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top