ส.ก.ขอความมั่นใจมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 5) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (31 ม.ค.67) นางสาวปิยะวรรณ จระกา ส.ก.เขตสวนหลวง ได้ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง ขอทราบมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาของกรุงเทพมหานคร
.
“เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์นักเรียนในสังกัดกทม. ถูกทำร้ายด้วยอาวุธจนถึงแก่ชีวิตในบริเวณสถานศึกษาพื้นที่เขตสวนหลวง ซึ่งต้องขอความแสดงเสียใจอย่างสุดซึ้งกับทางครอบครัวผู้สูญเสีย ผู้ปกครอง คุณครูและเพื่อน ๆ นักเรียนทุกท่าน ในความเป็นจริงแล้วพื้นที่การศึกษาควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย ปลอดอาวุธ และปลอดสารเสพติดทุกชนิด แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวนักเรียนถูกทำร้ายจากทั้งคุณครูหรือนักเรียนด้วยกัน รวมไปถึงคุณครูที่ถูกบุคคลในสถานศึกษาทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจเผยแพร่ออกมาทางสื่อมากมาย จึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาของกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง รวมไปถึงบุคลากรในโรงเรียน” ส.ก.ปิยะวรรณ กล่าว
สำหรับประเด็นคำถามมี ดังนี้
1. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายในการจัดสรรเครื่องตรวจจับโลหะให้สถานศึกษาหรือไม่ อย่างไร
2. ฝ่ายบริหารมีนโยบายในการจัดทำการแจ้งเตือนส่วนรวม เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างไร
3. แนวทางการปฏิบัติบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้การลำเลียงผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุ ทางกทม.มีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร หลังจากได้รับการแจ้งเหตุ และขณะนี้มีรถฉุกเฉินกี่คัน ประจำจุดตรงไหน และบุคลากรเพียงพอหรือไม่
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ ตนเองได้เดินทางไปร่วมงานศพของนักเรียนที่เสียชีวิต และจากการพูดคุยไม่มีข้อมูลการบุลลี่ กลั่นแกล้ง บังคับขู่เข็ญหรือเรื่องของเด็กพิเศษภายในโรงเรียนแต่อย่างใด จึงขอแจ้งข้อมูลเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน สำหรับมาตรการการรักษาความปลอดภัย หากมีความจำเป็นต้องนำเครื่องตรวจจับโลหะเข้ามาติดตั้งภายในโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนในสังกัดกทม.ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนชั้นประถมศึกษานั้น จะต้องมีการพิจารณาติดตั้งในโรงเรียนที่มีความต้องการในเบื้องต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่สุดก่อน
.
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักการศึกษาของกรุงเทพมหานคร มีมาตรการป้องกันการเกิดเหตุฉุกเฉินระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น คือ การกำชับบุคลากรในโรงเรียนให้มีการตรวจกระเป๋า อาวุธ และยาเสพติด พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยโรงเรียนให้เข้มงวด ส่วนระยะยาวจะมีการพิจารณาอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น CCTV ให้มีการติดตั้งอย่างครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงจะมีการปูพรมตรวจและดูแลสภาพจิตใจของบุคลากรในโรงเรียน โดยการประสานกับกรมสุขภาพจิตในการนำแบบสอบถามมาช่วยในการประเมินแนวทางการตรวจ นอกจากนั้นสำนักการศึกษาจะมีแนวทางเพิ่มการดูแลและทำความเข้าใจกับนักเรียนเป็นรายบุคคลในวิชาโฮมรูม วิชาแนะแนว และมีการพบผู้ปกครองเพิ่มสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อไป รวมถึงจะมีการบูรณาการประชาสัมพันธ์นำแอปพลิเคชันหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสภาพจิตใจเข้ามาปรับใช้ด้วย
.
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในขณะนี้ทางกทม.มีขั้นตอนทดลองระบบ EAS (Emergency Alert System) ซึ่งนำเข้ามาใช้ในด้านอัคคีภัย มีการรับแจ้ง บริหารจัดการ และขั้นตอนการฟื้นฟูทั้งหมด ซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบข้อมูลของกทม. ถ้าหากต้องการทำระบบเตือนภัยจากระบบกลางเข้าสู่โรงเรียนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัยแบบสาธารณภัยหรือภัยธรรมชาติ เนื่องจากตัวระบบจะมีความซับซ้อนในการออกแบบข้อมูลในการแจ้งเตือน ว่ามีการแจ้งจากใคร แค่ไหนอย่างไร มิฉะนั้นคนที่รับสารอาจจะมีความไม่เข้าใจในสารที่ได้รับ โดยในขณะนี้กทม.ยังไม่มีการขยายผลนำ EAS เข้ามาจัดการเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนหรือเกิดเหตุจากคนที่ประสงค์ไม่ดี จะต้องขอนำข้อมูลตรงนี้ไปใช้ในการออกแบบระบบ EAS กลาง ต่อยอดกับระบบ EAS อัคคีภัยและอุบัติเหตุขนาดใหญ่บนถนนที่มีอยู่แล้ว และสำหรับการดำเนินการนำส่งผู้บาดเจ็บจากจุดเกิดเหตุหลังจากที่ได้รับการแจ้งเหตุฉุกเฉินในครั้งนี้ เกิดความล่าช้ากว่าเวลาที่ควรจะเป็นจริง ซึ่งทางเราจะขอทำการสอบกลับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ล่าช้า
—————————-
ผู้ชมทั้งหมด 389 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 4 ครั้ง