สภากทม. เห็นชอบร่างข้อบัญญัติกำหนดบริเวณห้ามติดหรือตั้งป้ายในกทม.
(29 พ.ย.67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างดัดแปลงอาคารประเภทป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายในพื้นที่บางส่วน ในท้องที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. ได้รายงานผลการพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ของคณะกรรมการวิสามัญฯ ต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาในวาระที่สองและวาระที่สาม
.
คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เริ่มจากชื่อร่าง หลักการ เหตุผล คำปรารภ และตัวร่างข้อบัญญัติเรียงตามลำดับจนจบ โดยอาศัยคำชี้แจงของข้าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกรรมการวิสามัญฯ ประกอบกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านระบบกลางทางกฎหมาย (http://www.law.go.th) และผ่าน Google Forms รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นเป็นหนังสือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักการโยธา สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมือง และสมาคมป้ายและโฆษณา สำหรับการรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมาย มีผู้แสดงความคิดเห็น จำนวน 881 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าเหมาะสมหรือเห็นด้วยกับร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับนี้ ทั้งนี้ ไม่มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครผู้ใดขอแปรญัตติ และไม่มีกรรมการผู้ใดสงวนความเห็น และคณะกรรมการฯ มีการตั้งข้อสังเกตใน 2 ประเด็น คือ 1.การยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นภายในระยะเวลา 180 วัน นับแต่วันที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับนี้ใช้บังคับ ควรยื่นคำขอที่สำนักการโยธา เพื่อความรวดเร็วและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้าย และ 2. สำนักการโยธาควรรวบรวมข้อมูลหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายทั้งหมดในท้องที่กรุงเทพมหานคร ทั้งชอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อประโยชน์ในการสืบค้นและตรวจสอบข้อมูล
.
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะส่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงนามต่อไป
——————
ผู้ชมทั้งหมด 50 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง