ขอกทม.เพิ่มขีดความสามารถฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด เตรียมพร้อมกลับสู่สังคม💊🏥
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (17 ม.ค. 67) : นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครจัดหาสถานที่ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพิ่ม
.
เนื่องจากปัญหายาเสพติดมีการแพร่ระบาดกระจายทั่วพื้นที่ประเทศไทยรวมทั้งกรุงเทพมหานคร ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายในหลายด้าน ทั้งด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ปัจจุบันพบว่าผู้ติดยาเสพติดมีแนวโน้มที่จะมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เด็กและเยาวชนมีการใช้ยาเสพติดมากกว่าผู้ใหญ่รวมถึงใช้ในปริมาณที่มากกว่าเช่นเดียวกัน สารเสพติดแต่ละชนิดส่งผลต่อระบบประสาทของผู้เสพต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการกดประสาท หลอนประสาท หรือกระตุ้นประสาท ทำให้อวัยวะและการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายเกิดความผิดปกติสุขภาพเสื่อมโทรมลง ร่างกายซูบผอม หัวใจเต้นผิดปกติ ฯลฯ บางรายอาจมีอาการคุ้มคลั่งอันเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต มีผลเสียต่อสังคมอาจนำไปสู่การมั่วสุมเพื่อทำสิ่งผิดกฎหมายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย การใช้ความรุนแรง รวมถึงปัญหาอาชญากรรมที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลและทรัพย์สินในชุมชนได้ ทำให้คนในชุมชนรู้สึกหวาดระแวงและไม่ปลอดภัย และส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ในขณะเดียวกันสถานที่บำบัดผู้ติดยาเสพติดของกรุงเทพมหานครมีเฉพาะบ้านพิชิตใจแห่งเดียว ซึ่งไม่สามารถรองรับผู้ติดยาเสพติดที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ ดังนั้น เพื่อให้มีพื้นที่ปลอดภัยทั้งสำหรับผู้ที่ติดยาเสพติดและคนในชุมชน กรุงเทพมหานครจึงควรจัดหาสถานที่ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพิ่มขึ้น
.
“ยาเสพติดเป็นปัญหาที่พบมากในปัจจุบัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นส่งผลเสีย กทม.ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลผู้ที่ติดยาเสพติด โดยจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ และจัดเตรียมการฝึกอาชีพควบคู่ไปด้วย” ส.ก.สุทธิชัย กล่าว
.
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ยอมรับว่าบ้านพิชิตใจเดิมมีสภาพเก่าจริง โดยเฉพาะอาคารอำนวยการ ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้งบประมาณเพื่อซ่อมบำรุงไปบ้างแล้วบางส่วน และในปี 67 ได้มีการจัดสรรงบเพื่อปรับปรุงบางส่วนเพิ่มเติม โดยการดูแลของสำนักอนามัย สำนักการระบายน้ำและสำนักการโยธา ศักยภาพสามารถรองรับได้ 6 รุ่นต่อปี หรือ 360 คน ต่อปี ในปี 66 มีผู้เข้ารับการบำบัด 7,000 คน กว่า 5 % เป็นผู้พักค้าง จำนวนที่รองรับ 360 คน จึงไม่เพียงพอ ในปี 69 จึงจะได้เตรียมอาคารเพื่อรรองรับเพิ่มเติม และเตรียมพร้อมสถานที่รับบริเวณสีกันของกองทัพอีกด้วย นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงกระบวนการส่งต่อให้เรียบร้อย โดยร่วมกับหลายภาคส่วน และจะซักซ้อมในพื้นที่จริงเพื่อถอดบทเรียนขั้นตอนการส่งต่อ โดยเตรียมพร้อมเรื่องการฟื้นฟูอาชีพโดยสำนักพัฒนาสังคมควบคู่ด้วย
——————–
ผู้ชมทั้งหมด 703 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง