skip to Main Content
สภากทม. ขอให้กทม.ร่วมกับม.นวมินทราธิราช ผลิตครูรองรับการขาดแคลนครูในรร.กทม.

สภากทม. ขอให้กทม.ร่วมกับม.นวมินทราธิราช ผลิตครูรองรับการขาดแคลนครูในรร.กทม.

ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (10 เม.ย.67) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง ได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชผลิตครูเพื่อรองรับการขาดแคลนครูในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร
.
เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนครูในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร สาเหตุหนึ่งมาจากครูที่ได้รับการบรรจุหลังจากปฏิบัติหน้าที่ครบ 8 ปี แล้วมีการย้ายกลับภูมิลำเนาที่ต่างจังหวัดทำให้ตำแหน่งครูว่าง และต้องรอเปิดสอบบรรจุรอบใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลานาน ทำให้การเรียนของนักเรียนขาดความต่อเนื่องและไม่มีประสิทธิภาพ ถึงแม้กรุงเทพมหานครจะแก้ไขปัญหาโดยการให้ทุนเอราวัณแก่นักเรียนที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่กรุงเทพมหานครศึกษาต่อคณะครุศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่ทำ MOU กับกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้น แต่กรุงเทพมหานครมีโรงเรียนในสังกัดจำนวน 437 แห่ง จำเป็นต้องมีการวางแผนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนข้าราชการครูในระยะยาว ดังนั้น กรุงเทพมหานครควรร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชผลิตครูเพื่อเข้ารับราชการตำแหน่งครูสังกัดโรงเรียนของกรุงเทพมหานคร เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างถาวรและยั่งยืน
.
จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้อภิปรายสนับสนุนญัตตินี้ ประกอบด้วย นายวิรัช คงคาเขตร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางกอกใหญ่ และนางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตดอนเมือง
.
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การเรียนรู้ต้องทำในหลายมิติคู่ขนานกัน แต่หากพูดถึงการขาดแคลนของครู ซึ่งมี 1,980 คน ในขณะนี้ แบ่งได้ 2 ประเภท คือ 1.การสูญเสียจากการเกษียณ การโอนย้ายกลับภูมิลำเนา และ 2.การขาดแคลนจากหาไม่ได้จริง ๆ เช่น ตำแหน่งครูจิตวิทยา ครูแนะแนว ปัญหาหนึ่งคือการโอนย้ายกลับภูมิลำเนา การแก้คือการหาครูด้วยการบรรจุจากการสอบแข่งขันและการคัดเลือก โดยกำหนดสัดส่วนที่ต่างกัน และการคัดเลือกได้ใช้วิธีการให้ทุนเอราวัณเมื่อเรียนจบจะได้รับการบรรจุเป็นครูกทม.
.
“การช้อนครูหรือการดึงครูที่จบครุศาสตร์ที่มีภูมิลำเนาในกทม.หรือใกล้เคียง เป็นกลยุทธ์สำคัญที่เราใช้ คือการทำ MOU ร่วมกับ 11 มหาวิทยาลัย ตามโครงการความร่วมมือการผลิตและพัฒนาครูและการผลิตครูกรณีพิเศษ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของกรุงเทพมหานคร (ช้อนครู) เพื่อผลิตและพัฒนาครูด้วยคุณภาพและคุณธรรม โดยครูช้อนจะมีอัตราการไม่โอนย้ายดีที่สุด ซึ่งจะกำหนดอัตราครูช้อนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น และในปี 67 นี้จะมีการขยายการลงนาม MOU ไปยังสถาบันการศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 3 สถาบัน รวมทั้งประสาน ม.นวมินทราธิราชเพื่อเปิดรับนักศึกษาเพิ่มเติมในสาขาการศึกษาพิเศษและจิตวิทยาการแนะแนว”
.
ด้าน รศ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดี ม.นวมินทราธิราช กล่าวว่า ม.นวมินทราธิราชร่วมกับสำนักการศึกษาทำงานอย่างใกล้ชิด โดยเปิดคณะศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งขาดแคลนในกทม. และจะพัฒนาหลักสูตรที่สำนักการศึกษาขาดแคลนต่อไป ทั้งนี้จะรับข้อห่วงใยของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครไปดำเนินการต่อไป
——————

ผู้ชมทั้งหมด 843 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top