skip to Main Content
สภากทม. ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

สภากทม. ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

(4 เม.ย. 67) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่หนึ่ง พร้อมด้วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุมกับคณะผู้แทนจากสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการปรับปรุงข้อกำหนด และเสนอแนะมาตรการทางผังเมืองอื่น ๆ ที่เหมาะสมในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง)
.
“การประชุมวันนี้จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ส.ก.ที่สนใจได้ซักถามประเด็นผังเมืองที่เปลี่ยนไป และสีของผังเมืองที่ได้กำหนดไว้ โดยให้สำนักการวางผังฯและที่ปรึกษาได้ตอบข้อซักถามของส.ก. เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และส.ก.สามารถนำข้อมูลนี้ไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง” ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าว
.
การประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้แทนของประชาชนจาก 50 เขตของกรุงเทพมหานคร และมีความคุ้นเคยกับสภาพพื้นที่ในเขตการดูแลของตนเอง โดยคณะผู้แทนจากสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองจะนำข้อแนะนำและความคิดเห็นที่ได้รับจากส.ก.มาเป็นข้อมูลประกอบการปรับปรุงร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ให้มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในขณะนี้ได้มีการขยายเวลารับฟังความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ถึงวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2567
.
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. กล่าวว่า ยอมรับว่ารายละเอียดเรื่องของผังเมืองอาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับผู้ที่ไม่ทราบข้อมูลผังเมืองมาก่อน ผังเมืองฉบับปัจจุบัน ได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2556 และร่างผังเมืองที่ปรับปรุงฉบับนี้ที่ผ่านมาได้เปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วแต่กว้างเกินไป และไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม กทม.ต้องขอน้อมรับข้อร้องเรียนดังกล่าว จึงได้ขอขยายการรับฟังความเห็นออกไปอีก 6 เดือน และกำหนดลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นลงลึกรายเขตเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยจะเริ่มในเดือนเม.ย. 67 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 67 ซึ่งการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น 50 เขต เป้าหมายผู้เข้าร่วมเขตละ 200 คน ทำให้เป็นผังเมืองที่มีประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด
.
“ขั้นตอนการวางและจัดทำผังเมืองรวม ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 กำหนดไว้ 18 ขั้นตอน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 5 ซึ่งมีข้อร้องเรียนว่าล่าช้า แต่พยายามชี้แจงให้ได้มากที่สุด สุดท้ายการทำผังเมืองต้องมาขอความเห็นชอบข้อบัญญัติผังเมืองรวมจากสภากรุงเทพมหานคร ตามขั้นตอนที่ 17 การร่วมหารือกันในวันนี้จะทำให้การทำงานในขั้นตอนที่ 17 ในอนาคตเป็นไปด้วยความเรียบร้อย” นายไทวุฒิ กล่าว
.
ทั้งนี้ภาพรวมผู้ที่ยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นกับร่างผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ปัจจุบัน มีจำนวน 9,191 คน แบ่งเป็น ผู้ที่ยื่นในวันประชุม 968 คน ยื่นผ่านเว็บไซต์ 501 คน และยื่นกับสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง จำนวน 7,722 คน สำหรับประชาชนที่สนใจแสดงความคิดเห็นกับร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) สามารถยื่นความเห็นด้วยตนเองหรือไปรษณีย์ถึงสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร หรือยื่นความเห็นทางออนไลน์ได้ที่ https://cpudapp.bangkok.go.th/cityplandraft4
—————————

ผู้ชมทั้งหมด 463 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top