skip to Main Content
ติดตามความคืบหน้ารูปแบบฝารางระบายน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ลดปัญหาอุบัติเหตุ

ติดตามความคืบหน้ารูปแบบฝารางระบายน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ลดปัญหาอุบัติเหตุ

(3 เม.ย.67) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
ในที่ประชุม นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตพญาไท ยื่นกระทู้ถามสดเรื่อง ความคืบหน้าการดำเนินการออกแบบพัฒนารูปแบบฝารางระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร
.
เนื่องจากสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ตั้งกระทู้ถามสดสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อง การแก้ไขปัญหาฝาท่อระบายน้ำ (รางวี) ริมถนนในพื้นที่เขตราชเทวี ในคราวประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 เมื่อวันพุธที่ 3 มกราคม 2567 ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ชี้แจงว่า กรุงเทพมหานครได้ออกแบบพัฒนารูปแบบของฝารางระบายน้ำ โดยลดขนาดความกว้างของแผ่นฝารางให้แคบลงเหลือเพียง 20 เซนติเมตร เพื่อใช้ก่อสร้างในถนนสายหลัก และตามตรอก ซอย ได้ออกแบบเป็นรางระบายน้ำ (O-Gutter) เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของช่องจราจร จึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1.ฝารางระบายน้ำของกรุงเทพมหานครที่ออกแบบพัฒนามีรูปแบบเป็นอย่างไร
2.หน่วยงานจะสามารถใช้ฝารางระบายน้ำรูปแบบใหม่ได้ทันภายในปี พ.ศ. 2568 หรือไม่
.
“รางวีก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับประชาชนที่ขับขี่จักรยานยนต์บ่อยครั้ง และเป็นรูปแบบเดิมที่ใช้กันมานานแล้ว กทม.จึงควรนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาพิจารณาใช้เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุให้กับประชาชน และทำให้สวยงามมากกว่านี้ โดยขอให้กทม.เร่งดำเนินการให้ทันในปีงบประมาณปี 68 นี้ และเป็นไปตามนโยบายเดินทางดีของผู้ว่าฯกทม.” นายพีรพล กล่าว
.
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การทำรางระบายน้ำเพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำจากผิวจราจรลงท่อระเบายน้ำ กทม.ได้ปรับเป็น 2 รูปแบบคือ U-Gutter และ O-Gutter ซึ่งเดิม U-Gutter จะใช้ในพื้นที่ต่ำมีปัญหาท่อระบายน้ำล่าช้า แต่ปัญหาของ U-Gutter คือ ตัวฝา จึงได้มีการปรับให้เป็นฝาเหล็กทึบสลับกับฝาเหล็กรางเพื่อให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันได้มีการปรับรูปแบบ O-Gutter ซึ่งเป็นร่องเล็ก ๆ และสามารถช่วยเร่งระบายน้ำได้ และตัดปัญหาเรื่องฝาระบายน้ำได้ และยังมีรูปแบบ O-Gutter แบบใหม่เพื่อทดแทนท่อระบายน้ำเดิมในซอยเล็กที่ต้องมีการเปลี่ยนท่อระบายน้ำได้เลย ซึ่งมาตรฐาน O-Gutter ใหม่ของกทม.จะช่วยเร่งระบายน้ำได้ดีขึ้น เบื้องต้นจะเน้นปรับปรุงในซอยที่มีคนเดินเป็นจำนวนมาก ซึ่งการดำเนินการต้องคำนึงถึงงบประมาณกทม.ด้วย และคาดว่าจะทันในปีงบประมาณปี 68 นี้
————————-

ผู้ชมทั้งหมด 571 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 6 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top