ตอนที่ 2 บทบาทของ “คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง”
การบริหารงานด้านการโยธาและผังเมืองของกรุงเทพมหานครเช่นโครงการก่อสร้างอาคารโครงการก่อสร้างถนนสะพานข้ามแยกสะพานข้ามคลองอุโมงค์ทางเดินลอดเป็นต้นรวมถึงการปรับปรุงซ่อมแซมเป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆของฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครผู้ที่ตรวจสอบการทำงานทั้งหมดนี้คือ “คณะกรรมการการโยธาและผังเมืองประจำสภากรุงเทพมหานคร”
บทบาทและหน้าที่ “คณะกรรมการการโยธาและผังเมืองประจำสภากรุงเทพมหานคร”
ผู้ที่ตรวจสอบการทำงานทั้งหมดที่ระบุไว้ข้างต้น คือ “คณะกรรมการการโยธาและผังเมืองประจำสภากรุงเทพมหานคร”เนื่องจากคณะทำงานนี้มีหน้าที่และอำนาจในการศึกษาติดตามตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานการวางแผนการโยธาการก่อสร้างและบูรณะการควบคุมการก่อสร้างการควบคุมอาคารการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการวางผังและการจัดทำผังเมืองในเขตกรุงเทพมหานครรวมทั้งการศึกษาปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไขข้อขัดข้องต่างๆในการดำเนินงานของหน่วยงานก่อนรายงานผลการดำเนินงานต่อสภากรุงเทพมหานคร
เปิดใจประธานคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร
นายนิรันดร์ ประดิษฐกุลในฐานะประธานคณะกรรมการการโยธาและผังเมืองสภากรุงเทพมหานครให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการการโยธาและผังเมืองว่า “สภากรุงเทพมหานครมีคณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานครทั้งหมด 12 คณะซึ่งคณะกรรมการการโยธาและผังเมืองสภากรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในนั้นมีหน้าที่ช่วยดูแลแนะนำพิจารณาการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครส่วนที่เกี่ยวข้องกับการโยธาและผังเมือง”
การลงพื้นที่ทางลอดสะพานไทย-เบลเยียมถนนพระราม 4 ใกล้จุดการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (สถานีลุมพินี)สะท้อนภาพการทำงาน
ยกตัวอย่างการลงพื้นที่ทางลอดสะพานไทย-เบลเยียมถนนพระราม 4 ใกล้จุดการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน(สถานีลุมพินี) เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2564 หลังจากประชาชนผู้ใช้เส้นทางร้องเรียนว่าพื้นผิวการจราจรบริเวณเชิงสะพานมีลักษณะการยกตัวเป็นเนินสูงเกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุกับผู้สัญจรไปมาตำรวจจราจรตรวจสอบพบว่าเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคลบริเวณสถานีลุมพินีกับโครงการวันแบงค็อกซึ่งบริษัทเอกชนได้ทำบันทึกข้อตกลงขออนุญาตกับทางกรุงเทพมหานครเมื่อตำรวจแจ้งเหตุทางสำนักการโยธากรุงเทพมหานครได้รีบสั่งการให้บริษัทเอกชนเร่งซ่อมแซมให้สภาพพื้นผิวการจราจรให้ใช้ได้ตามปกติทันที
จากกรณีนี้ นายนิรันดร์ อธิบายว่า การแก้ไขปัญหาตามที่ประชาชนร้องเรียนเป็นหน้าที่โดยตรงของสำนักการโยธากรุงเทพมหานครส่วนการทำงานของคณะกรรมการการโยธาและผังเมืองสภากรุงเทพมหานครคือการเข้ามาตรวจสอบว่าดำเนินการเรียบร้อยหรือไม่? นี่เป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนภาพการทำงานตรวจสอบของคณะกรรมการการโยธาและผังเมืองสภากรุงเทพมหานคร
เป้าหมายการทำงาน “คณะกรรมการการโยธาและผังเมืองประจำสภากรุงเทพมหานคร”
นายนิรันดร์ กล่าวว่า งานด้านการโยธาและผังเมืองของกรุงเทพมหานคร ยังมีอีกหลายแง่มุมขณะนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่กรุงเทพมหานครนำงบประมาณไปดำเนินการอยู่ เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครให้มีความเจริญรุดหน้าต่อไป
เป้าหมายของคณะกรรมการการโยธาและผังเมืองสภากรุงเทพมหานครคือการเข้าไปตรวจสอบเพื่อให้การดำเนินการตามข้อร้องเรียนดังกล่าวสอดคล้องกับการวางผังและพัฒนาเมืองระดับประเทศตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมืองพ.ศ. 2562
ฝากข้อเสนอแนะถึงสภากรุงเทพมหานคร ผ่านเว็บไซต์ของสภากรุงเทพมหานครที่ www.bmc.go.th
#ร่วมคิดร่วมสร้างกรุงเทพฯที่ดีขึ้น #BetterBangkok
ผู้ชมทั้งหมด 3,112 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 4 ครั้ง