ส.ก.ตั้งกระทู้สดติดตามความคืบหน้าการสร้างรพ.ในพื้นที่เขตทุ่งครุ
(11 ต.ค.66) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง ทั้งนี้ก่อนการประชุมประธานสภากรุงเทพมหานครได้แสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุที่ประเทศอิสราเอล
.
ในที่ประชุม นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก. เขตทุ่งครุ ได้ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง ขอทราบความคืบหน้าการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงพยาบาลโดยเฉพาะในเขตที่ไม่มีโรงพยาบาลของภาครัฐ
.
“ในช่วงโควิดจะเห็นได้ว่าหลายพื้นที่ไม่มีโรงพยาบาลส่งต่อผู้ป่วย ทำให้การส่งต่อผู้ป่วยต่อใช้เวลามาก โดยในพื้นที่เขตที่ยังไม่มีโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนตั้งอยู่ มีจำนวน 5 เขต คือ เขตพระโขนง ยานนาวา ตลิ่งชัน บางกอกใหญ่ และทุ่งครุ ถึงแม้ขณะนี้มีแผนที่จะก่อสร้างโรงพยาบาลในบางพื้นที่แล้ว แต่หลังจากที่ได้เคยยื่นกระทู้ไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีความคืบหน้าในพื้นที่เขตทุ่งครุแต่อย่างใดในวันนี้จึงได้สอบถามอีกครั้ง รวมถึงแนวทางการศึกษาที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเคยได้ให้ข้อมูลไว้ และการดำเนินการเพื่อเป็นทางเลือกอื่นด้วย ทั้งนี้เนื่องจากวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าฯ กทม. และส.ก.มีเพียง 4 ปี จึงขอให้กรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการ” ส.ก.เขตทุ่งครุ กล่าว
.
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โรงพยาบาลเป็นปัญหาที่อยู่ระหว่างการหารือ ปัจจุบันเตียงของโรงพยาบาลสังกัดกทม.มีเพียง 13% ของเตียงที่มีทั้งหมดในกทม. อย่างไรก็ตามการมีโรงพยาบาลจะมีภาระที่ตามมาค่อนข้างมาก จึงได้ศึกษาในภาพรวมและจะได้หารือรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลช่วยดูแลด้วย
.
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการศึกษาในภาพรวมพบว่ามี 5 เขตที่ไม่มีรัฐจริง ขณะนี้กรุงเทพมหานครจึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการทำโรงพยาบาลในเขตดอนเมืองและทุ่งครุอยู่ โดยในพื้นที่ทุ่งครุได้รับงบปี 67 เพื่อปรับประสิทธิภาพศูนย์บริการสาธารณสุข(ศบส.)ให้เป็น ศบส.พลัส เพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้น รวมถึงหารือกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอให้โรงพยาบาลสีกันในพื้นที่กองทัพอากาศเพิ่มเตียง และอัตรากำลังเพื่อรับส่งต่อผู้ป่วย ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือนในการศึกษาเชิงลึก ในส่วนอีก 3 เขตที่ยังไม่ได้ศึกษาแต่อยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนเพื่อดำเนินการ
.
“หากศึกษาและจำเป็นต้องทำ ก็ต้องทำให้ได้ ถ้าทำไม่ได้คือไม่จำเป็นต้องทำ หากศึกษาแล้วพบว่าเราจำเป็นต้องมีโรงพยาบาลใน 5 เขตก็ต้องทำและขอให้สภากทม.ได้สนับสนุนอนุมัติงบประมาณในอนาคต นอกจากศึกษารพ.แล้วยังต้องศึกษาความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยของศบส.แต่ละแห่งด้วย เพื่อให้สามารถให้บริการประชาชนได้ตรงตามความต้องการและศักยภาพที่มีอยู่ ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาลอยู่แล้ว เราคงต้องหารือกับรัฐบาลรวมถึงภาคเอกชนด้วย เพราะภาคเอกชนมีการบริจาคที่ดินเพื่อให้สร้างรพ. การหาความร่วมมือจะเป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เราเข้าถึงได้ดีขึ้นโดยไม่ใช้งบประมาณ การทำให้โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการเองได้โดยไม่พึ่งรัฐ เช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว หรือโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ก็ถือว่าทำได้ดี คงต้องมาดูกันว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรบ้าง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย
———————–
ผู้ชมทั้งหมด 286 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 1 ครั้ง