วันที่ 2 มิถุนายน 2563 เวลา 10.00 น. นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่1) ประจำปีพุทธศักราช 2563 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา กรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้พิจารณา ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม (ฉบับที่..) พ.ศ. … ซึ่งนายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ ซึ่งได้แก้ไขรายละเอียดในร่างข้อบัญญัติฯ อาทิ หลักการและเหตุผลประกอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เห็นสมควรให้แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสามารถยืมเงินสะสมมาใช้เพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องปัดหรือป้องกัน หรือยับยั้งหรือบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะกรณีฉุกเฉิน ในกรณีที่ตั้งงบประมาณไว้แต่ไม่เพียงพอและไม่สามารถโอนงบประมาณรายการอื่นมาใช้จ่ายได้ และในกรณีที่กรุงเทพมหานครไม่สามารถจัดเก็บรายได้เพียงพอที่จะดำเนินการตามงบประมาณ
นอกจากนี้เมื่อมีการอนุมัติให้ยืมเงินสะสมแล้ว ให้กรุงเทพมหานครตั้งงบประมาณชดใช้เงินยืมสะสมดังกล่าวให้ครบถ้วนไม่เกินปีงบประมาณถัดไป เพื่อให้เห็นผลในการดำเนินโครงการ รวมทั้ง คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกต ดังนี้ การจ่ายขาดเงินสะสมเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครแล้ว ควรกำหนดให้กรุงเทพมหานครดำเนินการก่อหนี้ผูกพันได้เลย โดยไม่ต้องตราเป็นข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เนื่องจากในการตราเป็นข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมมีระยะเวลาในการดำเนินการทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วนได้ และเป็นการซ้ำซ้อนกับการพิจารณาจ่ายขาดเงินสะสม นอกจากนี้การจ่ายขาดเงินสะสมควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดไว้ในข้อ 12 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม พ.ศ.2562 โดยเคร่งครัด และคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนของแต่ละโครงการด้วย ทั้งนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม (ฉบับที่..) พ.ศ. ..ในวาระสอง และวาระที่สาม
พิจารณาปรับลดจ่ายขาดเงินสะสมกว่า 3,533 ล้านบาท
นายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาการขอความเห็นชอบจ่ายขาดเงินสะสมกรุงเทพมหานคร จำนวน 8,000,000,0000 บาท (แปดพันล้านบาท) ก่อนให้ความเห็นชอบ ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ ซึ่งได้พิจารณารายละเอียดของรายการ โครงการที่ขอรับความเห็นชอบจากเอกสารของสำนักงบประมาณ และรับฟังคำชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยยึดหลักของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 รวมทั้งสิ้น 28 หน่วยงาน 194 รายการ/โครงการ จำนวนแปดพันล้านบาท ทั้งนี้ได้ขอให้หน่วยงานทบทวนรายการ/โครงการ เนื่องจากระยะเวลาที่ของบประมาณ จนถึงคณะกรรมการวิสามัญฯเริ่มพิจารณาเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้สถานการณ์และความจำเป็นอาจเปลี่ยนไป หน่วยงานจึงได้ขอถอนรายการ/โครงการที่ยังไม่มีความจำเป็น สามารถรอการดำเนินการได้บางรายการ
โดยที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติให้ความเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครจ่ายขาดเงินสะสมกรุงเทพมหานครได้ รวมทั้งสิ้น 24 หน่วยงาน 132 รายการ/โครงการ จำนวน 3,543,975,216 บาท
ผู้ชมทั้งหมด 391 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 1 ครั้ง