
“ส.ก.สุทธิชัย” เร่ง กทม. รวมข้อมูลสาธารณูปโภคใต้ดินแก้ก่อสร้างล่าช้า เลี่ยงปัญหาสายท่อใต้ดิน
วันที่ 23 เม.ย. 2568 การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 3) ประจำปี พ.ศ. 2568 นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก. เขตจอมทอง เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครสำรวจและรวบรวมฐานข้อมูลสาธารณูปโภคใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
.
นายสุทธิชัย กล่าวว่า ในใต้ดินพื้นที่กรุงเทพมหานครจะมีสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นสายไฟฟ้า ประปา สายสื่อสารต่าง ๆ โดยก่อนหน้านี้ไม่มีข้อมูลสาธารณูปโภคที่มีใต้ดินว่าอยู่ในบริเวณใด นำลงใต้ดินและมีการซ่อมแซมเมื่อไหร่ เพราะขณะนี้มีการปรับปรุงซ่อมแซม ถนน ตรอก ซอกซอย ต้องมีการสำรวจรื้อย้ายสาธารณูปโภคใต้ดินออกก่อน ก่อให้เกิดปัญหางานล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด เช่น การก่อสร้างอุโมงค์สี่แยกมไหสวรรย์ที่ต้องขอต่อสัญญาออกไปเกือบปี การสร้างอุโมงค์แยกไฟฉายใช้เวลา 13 ปี การสร้างอุโมงค์รัชดา-ราชพฤกษ์ ที่ต้องรื้อทางเท้าและผิวจราจรเดิมออก เพราะการก่อสร้างติดเรื่องไฟฟ้าและประปา การปรับปรุงถนนกำนันแม้นที่ใช้เวลา 4-5 ปี เพราะขุดเจอสายเคเบิ้ลขนาดใหญ่ ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านการจราจรและความไม่สะดวกระหว่างดำเนินการ
.
ปัจจุบันนี้ยังคงเหมือนเดิมทุกขั้นตอนข้อมูลไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสำนักการโยธา เป็นหน่วยงานใหญ่ทำไมถึงไม่มีข้อมูล เป็นสำนักที่คอยกำกับดูแลออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่เกิน 5 ชั้นขึ้นไป ถนนทุกเส้นที่เป็นเส้นหลักกลับไม่มีข้อมูล
.
อย่างไรก็ตาม นายสุทธิชัย ให้ข้อมูลว่า ถนน ตรอก ซอกซอย ตามความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครหรือสำนักงานเขตมีทั้งหมด 2,402 เส้น ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการพิจารณางบประมาณมาทุกปีก็จะเห็นว่า ติดปัญหาสายเคเบิลลงดิน ติดท่อส่งน้ำมัน ท่อประปา หรือสายไฟฟ้า ทำไมเราถึงไม่มีข้อมูลเก็บข้อมูลเป็นเซ็นเตอร์หลักของกรุงเทพมหานครเพื่อจะได้ปรับแผนในการพัฒนาเมือง ทำถนนหนทาง เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรโดยไม่ติดขัดกับสาธารณูปโภคที่ติดอยู่ใต้ดิน
.
ด้านนายวิรัช คงคาเขตร ส.ก. เขตบางกอกใหญ่ อภิปรายเสริมว่า ในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 เกิดเหตุท่อก๊าซธรรมชาติระเบิด ในพื้นที่ตำบลเปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 50 ราย ขณะที่แรงระเบิด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโรงเรียน โรงพัก วัดและบ้านเรือนประชาชนเป็นวงกว้าง
.
นายสุทธิชัย กล่าวว่า ท่อหนึ่งที่คนหลายคนไม่เคยทราบ คือ ท่อก๊าซ ปตท. ที่วิ่งผ่านจากถนนกัลปพฤกษ์ เขตจอมทอง วิ่งผ่านถนนราชพฤกษ์ เพื่อส่งท่อนำก๊าซจากกาญจนบุรี ผ่านราชบุรีเข้าสู่กรุงเทพมหานคร มุ่งสู่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ถนนพระราม 6 หากท่อก๊าซเหล่านี้เกิดเหตุเหมือน จ.สมุทรปราการ ใครจะเป็นคนรับผิดชอบถ้าเกิดขึ้น?
.
ด้านนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ชี้แจงว่า ในอดีต กทม. มีข้อมูลตามที่อนุญาตหน่วยงานสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า ประปา หรือท่อก๊าซ แต่เป็นเพียงข้อมูลแค่การขออนุญาตที่ กทม. มีมาเป็นเวลานาน การสืบค้นเวลามีเหตุหรือการที่เราอยากจะรู้ข้อมูลในการก่อสร้างก็ลำบากพอสมควร แต่ปัจจุบันเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ มายื่นขออนุญาตเป็นระบบ การเก็บรวบรวมการค้นหาก็ง่ายขึ้น นอกจากนี้สำนักการโยธาก็จะขอความร่วมมือการประปา การไฟฟ้า หรือหน่วยงานต่าง ๆ แม้กระทั่ง รฟม. ว่ามีข้อมูลแนวท่อต่าง ๆ เอามาเป็นรูปแบบดิจิทัลทั้งหมดอยู่บนแผนที่ร่วมกัน
.
ด้านนายนภาพล จีระกุล ส.ก. เขตบางกอกน้อย อภิปรายว่า การดำเนินการของโครงการในใต้ดินของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ฝ่ายบริหารบอกติดตามเป็นปีแต่ก็ไม่ได้คำตอบ จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป ถึงแม้ว่าการก่อสร้างของหน่วยงานราชการต่าง ๆ จะไม่ต้องขออนุญาตเพียงแค่แจ้งให้ทราบ แต่การควบคุมการดูแลให้เป็นไปตามแบบ เป็นเรื่องสำคัญเพราะหลายจุดมีการขุดถนนและใช้แผ่นหินใหญ่ปิดปากบ่อเอาไว้ เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุรถตกลงไป เราควรป้องกันอันตรายให้กับพี่น้องประชาชนหรือไม่อย่างไร
.
นายธวัชชัย ชี้แจงว่า กรุงเทพมหานครโดยสำนักงานโยธากำลังรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณูปโภคซึ่งทยอยดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ และได้เร่งรัดไปหลายหน่วยงาน ส่วนอีกประเด็นเป็นเรื่องความรับผิดชอบของการก่อสร้าง กทม. ส่งคนไปตรวจทุก 5 วัน ในวันที่ตรวจก็เรียบร้อยดีแต่ภายหลังมารถวิ่งผ่านทำให้ฝาบ่อทรุด ซึ่งได้รีบเข้าไปดำเนินการ ตอนนี้หน่วยงานไฟฟ้ามาขอขุดวางท่อร้อยสายไฟฟ้า 700 กว่าบ่อ ซึ่งทุกบ่อก็จะมีปัญหาในเรื่องของความไม่ราบเรียบ การเปิดฝาบ่อทำงานกลางคืน เช้าต้องปิดบ่อ พอปิดก็ต้องตรวจสอบความเรียบร้อยของฝาบ่อ เราต้องกำกับให้เขาดำเนินการอย่างเรียบร้อยให้มากที่สุด
ผู้ชมทั้งหมด 88 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 16 ครั้ง