skip to Main Content
คกก.วิสามัญสภากทม. ผลักดันร่างข้อบัญญัติเข้าสู่สภากทม. เพิ่มค่ารักษาและสวัสดิการ อปพร.กทม.

คกก.วิสามัญสภากทม. ผลักดันร่างข้อบัญญัติเข้าสู่สภากทม. เพิ่มค่ารักษาและสวัสดิการ อปพร.กทม.

👉 (20 ม.ค. 68) นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนกิจการอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. …. ประชุมร่วมกับคณะกรรมการวิสามัญฯ ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายปกครอง และผู้แทนอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร พร้อมยืนยันร่างฯ ผลักดันสู่สภาถึงผู้ว่าฯ กทม.ต่อไป
.
📌 โดยการประชุมในครั้งนี้เป็นการให้ผู้แทนอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของกทม. ทั้ง 50 เขต ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนกิจการอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้แก้ไขโดยพิจารณาจากกฎหมายและคู่มือการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยกิจการอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติว่าด้วยค่าใช้จ่ายของอาสาสมัครในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร มาตรฐานหน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
.
📌 ในที่ประชุมผู้แทนอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนทั้ง 50 เขต ได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ
1. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ของศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเขตในกรุงเทพมหานคร หรือศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในปัจจุบันศูนย์ อปพร. ได้รับงบประมาณเดือนละ 5,000 บาท แต่ไม่สามารถนำมาเบิกจ่ายในกิจการที่จำเป็นของศูนย์ฯ ได้ สามารถนำมาเบิกได้เฉพาะค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในสำนักงานเท่านั้น
2. ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ในกิจการ อปพร. เดือนละ 5,000 บาท ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานในแต่ละเดือน
3. ค่ารักษาพยาบาลสำหรับ อปพร. ที่ได้รับอันตรายจากการปฏิบัติงาน ในปัจจุบันเห็นว่าไม่เพียงพอ จึงอยากให้กรุงเทพมหานครพิจารณาเพิ่มค่ารักษาพยาบาล
4. อุปกรณ์ที่ใช้ในกิจการ อปพร. ไม่เพียงพอ เช่น เครื่องวิทยุประจำที่ รถยนต์ดับเพลิง รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในสำนักงาน อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมเครื่องพิมพ์ เป็นต้น
.
✨ จากนั้นผู้แทนอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนได้มีมติเห็นชอบกับร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณสภากรุงเทพมหานครที่คอยผลักดันด้านสวัสดิการให้แก่อาสาสมัครฯ ตลอดมา โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ จะนำร่างข้อบัญญัติเข้าสู่สภากรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาในวาระต่อไป
——————————
  

ผู้ชมทั้งหมด 8 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 8 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top