ตั้งคกก.วิสามัญฯ แก้ปัญหาจัดหารถเก็บขยะกทม.
(15 ม.ค. 68) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2568 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง ยื่นญัตติ เรื่อง ขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดหารถเก็บขนมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า เนื่องจากสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อดำเนินโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบยกภาชนะรองรับมูลฝอย ขนาด 3 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 102 คัน พร้อมภาชนะรองรับมูลฝอย จำนวน 408 ใบ ระยะเวลาผูกพันโครงการ 7 ปี (2566 – 2572) โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบอัด ขนาด 5 ตัน จำนวน 464 คัน โครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบอัด ขนาด 2 ตัน จำนวน 152 คัน และโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอยแบบยกภาชนะรองรับมูลฝอย ขนาด 8 ตัน จำนวน 124 คัน พร้อมภาชนะรองรับมูลฝอย จำนวน 124 ใบ ระยะเวลาผูกพันโครงการ 8 ปี (2566 – 2573) รวม 4 โครงการ ซึ่งเป็นการจัดหารถทดแทนรถเก็บขนมูลฝอยเดิมที่หมดสัญญาเช่า และได้รับความเห็นชอบให้กันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไว้เบิกเหลื่อมปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (กรณียังไม่ก่อหนี้ผูกพัน) แต่มีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการจัดหารถเก็บขนมูลฝอยหลายประการ ทำให้ไม่สามารถจัดหารถเก็บขนมูลฝอยตามแผนงานและงบประมาณที่ได้รับ ส่งผลกระทบต่อการบริการเก็บขนมูลฝอยในภาพรวม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกรุงเทพมหานครและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ประกอบกับมีสำนักข่าวได้นำเสนอข่าวว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะว่าโครงการเช่ารถเก็บขนมูลฝอย งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 อาจมีความเสี่ยงในการดำเนินโครงการที่อาจไม่เป็นไปตามขั้นตอนตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงให้กรุงเทพมหานครดำเนินการด้วยความละเอียด รอบคอบ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินงานของกรุงเทพมหานคร และคำนึงถึงการบริการสาธารณะให้กับประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้น เพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถจัดหารถเก็บขนมูลฝอยได้ตามแผนงานและงบประมาณที่ได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จึงเห็นสมควรให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดหารถเก็บขขนมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร
.
จากนั้น สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายในญัตตินี้ ได้แก่ นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ่ กล่าวว่า ในทางปฏิบัติรถที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมนั้นต้องมีการปรับปรุงเตรียมไว้ก่อนซึ่งเมื่อผู้รับจ้างประมูลได้ต้องส่งรถให้ทันตามที่ TOR กำหนด ซึ่งอาจไม่ทันตามที่ระบุไว้ในสัญญาทำให้กรุงเทพมหานครยังหาผู้รับจ้างไม่ได้ โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานครสนับสนุนให้กรุงเทพมหานครมีรถ EV ตามนโยบายของผู้ว่าฯ ซึ่งในปัจจุบันรถไฟฟ้าสามารถชาร์จพลังงานไฟฟ้าได้ทุกที่ แต่กทม.เลือกที่จะให้รถเก็บขยะชาร์จพลังงานไฟฟ้าได้ที่โรงเก็บขยะเท่านั้น หากเกิดอุบัติเหตุหรือระบบล่มอาจจะทำให้รถเก็บขยะไม่สามารถดำเนินงานได้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน อีกทั้งข้อมูลไมล์รถแบบเก่าที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ จะต้องปรับเปลี่ยนให้มีการเข้าถึงระบบรถแต่ละคันได้เพื่อความโปร่งใสของหน่วยงาน
.
จากนั้นที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดหารถเก็บขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร จำนวน 13 ท่าน กำหนดระยะเวลาการศึกษา 90 วัน
—————————
ผู้ชมทั้งหมด 4 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 4 ครั้ง