skip to Main Content
สภากทม.เห็นชอบกันงบประมาณไว้เบิกเหลื่อมปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 141 รายการ กว่า 4 พันล้านบาท

สภากทม.เห็นชอบกันงบประมาณไว้เบิกเหลื่อมปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 141 รายการ กว่า 4 พันล้านบาท

📌(30 ก.ย. 67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม
.
เมื่อคราวประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 เมื่อวันพุธที่ 11 กันยายน 2567 ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติขอความเห็นชอบกันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (แบบไม่มีหนี้ผูกพัน) ของหน่วยรับงบประมาณกรุงเทพมหานคร ก่อนให้ความเห็นชอบ ตามที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอขอกันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (แบบไม่มีหนี้ผูกพัน) ของหน่วยรับงบประมาณกรุงเทพมหานคร จำนวน 155 รายการ จำนวนเงิน 5,175,190,887 บาท โดยกำหนดระยะเวลาในการพิจารณา 15 วัน และการประชุมใช้เวลารวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง
.
⭐นายศิริพงษ์ ลิมปิชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติขอความเห็นชอบกันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (แบบไม่มีหนี้ผูกพัน) ของหน่วยรับงบประมาณกรุงเทพมหานคร ก่อนให้ความเห็นชอบ ได้รายการผลการประชุมของคณะกรรมการวิสามัญฯ หลังจากเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงรายละเอียดเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งมีหน่วยงานเสนอขอถอนรายการ/โครงการที่ขอกันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (แบบไม่มีหนี้ผูกพัน) เนื่องจากสามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และภายหลัง สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลมีหนังสือแจ้งขอถอนรายการ ที่ขอกันเงินอีกจำนวน 2 รายการ ดังนั้น คณะกรรมการวิสามัญฯ จึงมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานถอนรายการ รวม 5 หน่วยงาน 11 รายการ จำนวนเงิน 389,697,040 บาท คือ 1. สำนักอนามัย 4 รายการ จำนวนเงิน 34,720,000 บาท 2. สำนักการศึกษา 2 รายการ จำนวนเงิน 127,300,090 บาท 3. สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล 2 รายการ จำนวนเงิน 76,348,700 บาท 4. สำนักสิ่งแวดล้อม 1 รายการ จำนวนเงิน 148,486,000 บาท และ 5. สำนักงานเขตวังทองหลาง 2 รายการ จำนวนเงิน 2,842,250 บาท
.
📌ผลการพิจารณาของ คณะกรรมการวิสามัญฯ
✅**มีมติเห็นชอบให้กันเงินงบประมาณฯ รวม 45 หน่วยงาน 129 รายการ จำนวนเงิน 4,518,307,901 บาท***
– รายการค่าใช้จ่ายโครงการติดตั้งศูนย์ควบคุมและบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีการจราจรและความปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 จำนวนเงิน 194,600,000 บาท (หนึ่งร้อยเก้าสิบสี่ล้านหกแสนบาท) ของสำนักการจราจรและขนส่ง นายนภาพล จีระกุล ในฐานะกรรมการเสียงข้างน้อย ไม่เห็นชอบ โดยได้อภิปรายให้ความเห็นว่า ห้อง Command Center เดิมที่ตั้งอยู่ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า มีความทันสมัยและศักยภาพอยู่แล้ว มีทั้งระบบการตรวจจับอุบัติเหตุ ระบบวิเคราะห์ ตรวจสอบทะเบียน ตรวจสอบสแกนใบหน้า นับจำนวนรถ รวมถึงระบบตรวจสอบสถานะระบบปฏิบัติการเครื่องแม่ข่าย โดยเห็นว่าควรนำงประมาณจำนวนนี้ (ระยะที่ 1 จำนวน 194.6 ล้าน) ไปปรับปรุงพัฒนาห้องและอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วเดิมให้มีศักยภาพดีขึ้น มากกว่าที่จะสร้างขึ้นใหม่ เนื่องจากรายละเอียดโครงการที่ของบประมาณมีลักษณะคล้ายกับรายการที่มีอยู่แล้วในสถานที่เดิม แตกต่างกันแค่เพียงเล็กน้อย
.
นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ในฐานะกรรมการวิสามัญฯ ได้ชี้แจงว่า เนื่องจากในอนาคตจะมีการย้ายศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า มาที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง และห้องที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า มีลักษณะเล็กซึ่งเป็นแค่ CCTV Room เท่านั้น และระบบที่มีอยู่เดิมไม่สามารถดึงข้อมูลย้อนหลังให้ประชาชนที่มาขอข้อมูลได้ ซึ่งห้อง Command Center ที่จะสร้างใหม่จะมีระบบที่ทำการควบคุม การตรวจสอบ และการจัดการสถานการณ์ได้รวดเร็ว (Real time) และแม่นยำ มีการจัดเก็บข้อมูลแบบระบบ Cloud ซึ่งมีพื้นที่จัดเก็บไม่จำกัด มีห้องประชุมเต็มรูปแบบที่มี Smart Board และจอแสดงผลขนาดใหญ่ รวมถึงมีระบบที่เป็นมาตราฐานที่ใช้กับหน่วยงานภายนอกได้ สำหรับการนำไปศึกษา วิจัยและต่อยอดได้
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามที่ส.ก.พุทธิพัชร์ ได้ชี้แจงว่าห้องที่มีอยู่เป็นแค่เพียงห้อง CCTV เท่านั้น หากจะให้ทำการปรับปรุงห้องเดิมจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านสถานที่ และหากกรุงเทพมหานครมี Command Center เป็นของตัวเองก็จะมีระบบการเชื่อมโยงของข้อมูลที่เป็นระบบเดียวกัน ทำให้สามารถดึงข้อมูลในระบบทุกอย่างเข้ามาศึกษาวิเคราะห์ได้ภายในระยะเวลารวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันแต่ละหน่วยงานมีการแยกกันเก็บข้อมูลที่ ทำให้เวลาจะศึกษาข้อมูลเรื่องใดก็ต้องย้ายไปตามห้องประชุมในแต่ละสถานที่ต่างๆของหน่วยงาน ไม่สามารถดำเนินการได้ทันท่วงทีได้
.
ภายหลังการอภิปรายที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติโหวตเห็นชอบตามรายงานผลการรายงานของคณะกรรมการวิสามัญฯ ให้กันเงิน รายการค่าใช้จ่ายโครงการติดตั้งศูนย์ควบคุมและบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีการจราจรและความปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1
.
✅***คกก.วิสามัญ ไม่เห็นชอบให้กันเงินงบประมาณฯ รวม 3 หน่วยงาน 15 รายการ จำนวนเงิน 241,172,700 บาท***
– รายการรถจักรยานยนต์กู้ชีพ Motorlance จำนวน 12 รายการ จำนวนเงิน 19,000,000 บาท ของสำนักการแพทย์ นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ในฐานะกรรมการเสียงข้างน้อย เห็นชอบให้กันเงินงบประมาณฯ โดยได้อภิปรายให้ความเห็นว่า รถจักรยานยนต์กู้ชีพฉุกเฉินทางการแพทย์ หรือ Motorlance มีเป้าหมายให้ไปถึงที่เกิดเหตุเพียงกู้ชีพเบื้องต้นในระยะเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งตามนโยบายของผู้ว่าฯ คือ ไปให้ถึงที่หมายภายใน 8 นาที เพื่อกู้ชีพเบื้องต้นระหว่างรอรถพยาบาลมาถึง ซึ่งรถ Motorlance มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด โดยในช่วงตุลาคม 2566 – กรกฎาคม ปี 2567 รถ Motorlance ได้ให้การช่วยเหลือ Emergency care ถึง 2,782 เคส โดยสามารถเข้าถึงผู้ช่วยที่บาดเจ็บได้ภายใน 8 นาทีถึง 1,505 เคส ซึ่งนับเป็นร้อยละ 54.1 มากกว่าครึ่งหนึ่งของเหตุทั้งหมด และมีสถิติระยะเวลาเฉลี่ยเร็วกว่าการให้บริการของรถพยาบาล ในกรณีการฝึกอบรมปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐานและช่วยการแพทย์ขั้นสูงสามารถส่งบุคลากรเข้าอบรมได้ทั้งโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานครเอง หรือโรงพยาบาลของสังกัดอื่นก็ได้ ไม่ได้เป็นเรื่องยากในการฝึกอบรมให้ความรู้ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ สำหรับเรื่องความเพียงพอของบุคลากรที่จะทำหน้าที่ขับรถ Motorlance
.
นายอำนาจ ปานเผือก ได้กล่าวเสริมว่า รถจักรยายนต์กู้ชีพ Motorlance มีประโยชน์และความจำเป็นต่อพี่น้องประชาชนอย่างมากเมื่อเกิดเหตุประสบภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานครที่มีการจราจรที่ติดขัด และมีพื้นที่ที่รถขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ อาจจะทำให้ผู้ประสบเหตุได้รับการช่วยเหลือไม่ได้อย่างทันถ่วงที หากฝ่ายบริหารให้คำยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบระยะเวลา ตนเห็นควรจะให้โครงการดำเนินการต่อ
.
เนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ในฐานะคณะกรรมการวิสามัญฯ เสียงข้างมาก กล่าวชี้แจงว่า เหตุที่คณะกรรมการวิสามัญฯ ไม่เห็นชอบให้กันเงิน เนื่องจากผู้ชี้แจงไม่สามารถตอบข้อคำถามของคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ว่าเหตุผลใดทำให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความล่าช้า ทั้งที่มีประสบการณ์และข้อมูลชองครุภัณฑ์จากการรับบริจาคจากมูลนิธิโรงพยาบาลราชพิพัฒน์มาตั้งแต่ปี 2566 จำนวน 50 คันอยู่แล้ว อีกทั้งสำนักการแพทย์ไม่มีความพร้อมด้านบุคลากร ซึ่งการขับขี่ Motorlance 1 คันต้องใช้บุคลากรถึง 2 คน เนื่องจากเป็นรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ โดยต้องมีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านการขับขี่ และด้านการปฐมพยาบาล ซึ่งผู้ชี้แจงได้ให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมาบางจุดให้บริการมีบุคลากรทำงานไม่ถึง 2 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของบุคลากร รวมถึงผู้ชี้แจงให้ข้อมูลเรื่องจุดจอด Motorlance ที่คลุมเครือ ไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดถึงมีการนำไปจอดที่สำนักงานเขต และมีการนำรถไปจอดกระจุกตัวอยู่ที่บริเวณในกรุงเทพฯ ชั้นใน
.
นายนภาพล จีระกุล ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมด้านความเพียงพอต่อบุคลากรที่พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถในการช่วยเหลือประชาชน และได้ขอคำยืนยันจากฝ่ายบริหารด้วยเช่นกัน และ นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ได้ในข้อสังเกตถึงความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเร่งรัดให้หัวหน้าหน่วยงานดำเนินการให้ทำตามกรอบเวลา
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงว่า โครงการ Motorlance เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่เพิ่งจะเกิดขึ้นได้ไม่นาน อาจจะมีข้อบกพร่องทางด้านอัตราของบุคลาการที่ไม่เพียงพอ โดยวิธีแก้ไขคือให้โรงพยาบาลนำเงินนอกงบประมาณสามารถจ้างบุคลากรเพิ่มเติมเพื่อมาปฏิบัติหน้าที่ Motorlance และสำหรับการอบรม จะให้มหาลัยวิทยาลัยนวมินทราธิราชจัดหลักสูตรในการศึกษาเร่งรัดเพิ่มเติมขึ้น ดังนั้นในเรื่องบุคลากรทางสำนักการแพทย์และโรงพยาบาลเองก็มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนาได้ทัน และสาเหตุที่ต้องใช้บุคลากร 2 คน/1 คัน เนื่องจากการขับขี่รถ Motorlance ต้องผ่านการอบรม หากไม่ผ่านจะไม่สามารถขับขี่ได้ แต่สามารถออกปฏิบัติหน้าที่ให้การช่วยเหลือคู่กันเพื่อการให้บริการฉุกเฉินได้ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้รับการอบรมทั้ง 2 อย่างแล้วจะสามารถออกปฏิบัติหน้าที่คนเดียวได้ โดยในการนี้นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้สนับสนุนโครงการนี้เพื่อให้เกิดการผลักดัน ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ในเขตเมือง
.
ซึ่งหลังจากการลงมติ ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบตามนางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ให้กันเงิน รายการรถจักรยานยนต์กู้ชีพฉุกเฉินทางการแพทย์ หรือ Motorlance จำนวน 12 รายการของสำนักการแพทย์ และมีมติเห็นชอบให้กันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (แบบไม่มีหนี้ผูกพัน) ในอีก 128 รายการ ตามที่คณะกรรมการวิสามัญฯพิจารณาด้วย
.
📌ผลการพิจารณา ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้กันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (แบบไม่มีหนี้ผูกพัน) ของหน่วยรับงบประมาณกรุงเทพมหานคร รวม 45 หน่วยงาน 141 รายการ จำนวนเงิน 4,537,307,901 บาท
———————————–

ผู้ชมทั้งหมด 41 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top