skip to Main Content
2 ปีที่ผ่านมากับการทำงานของสภากรุงเทพมหานคร

2 ปีที่ผ่านมากับการทำงานของสภากรุงเทพมหานคร

(5 มิ.ย. 67) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร นำทีม นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่หนึ่ง นายอำนาจ ปานเผือก รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่สอง และ นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร แถลงผลงานต่อสื่อมวลชน ในวาระการดำรงตำแหน่ง ครบรอบ 2 ปี

สภากรุงเทพมหานครถือเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติของกรุงเทพมหานคร มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้งหมด 50 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่แยกจากกันกับฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร โดยสภากรุงเทพมหานครทำหน้าที่ออกกฎหมาย ติดตามการทำงาน และช่วยสนับสนุนการบริหารกรุงเทพมหานคร ในขณะที่ฝ่ายบริหาร มีหน้าที่รับผิดชอบการกำหนดนโยบายและการบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย

สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ชุดปัจจุบัน นับเป็นชุดที่ 13 เริ่มปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 และจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ในวันนี้ โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สภากรุงเทพมหานครได้มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของชาวกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง และมีหลายภารกิจที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานครร่วมกันดำเนินการได้สำเร็จและเห็นชัดเป็นรูปธรรม

สะท้อนปัญหากทม.ผ่าน 109 ญัตติ ถึงสภากรุงเทพมหานคร

นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การประชุมสภากรุงเทพมหานครนั้น ถือเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่เปรียบเสมือนการสะท้อนภาพที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ได้สัมผัสในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตน ซึ่งมีจำนวน 50 เขตทั่วทั้งกทม. โดยส.ก. มีหน้าที่ช่วยกันตรวจสอบ รับทราบปัญหา และหาแนวทางการแก้ไข ประเด็นส่วนใหญ่ที่ส.ก. นำเข้าสู่สภากรุงเทพมหานครนั้นเป็นปัญหาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค ถนน ประปา ไฟฟ้า ความเป็นอยู่ของประชาชน และความต้องการของชุมชน ปัญหาต่าง ๆ ทั้งหมดที่ส.ก. ได้รับแจ้งหรือพบเจอจากคนในชุมชนจะถูกรวบรวมนำมาเป็นกระทู้ ญัตติ เพื่อนำมาอภิปราย สะท้อนภาพให้ฝ่ายบริหารของกทม.รับทราบ และเร่งแก้ปัญหาต่อไป

สภากทม. มีการผลักดันให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อให้การทำหน้าที่ของส.ก.สามารถเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น โดยประชาชนจะสามารถสอบถามปัญหาเข้ามาในช่องทางการสื่อสารของสภากรุงเทพมหานครได้ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2567 สภากรุงเทพมหานครมีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 40 ครั้ง มีกระทู้ถามของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 53 กระทู้ เรื่องที่คณะกรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว 54 เรื่อง เรื่องที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอ 32 เรื่อง และมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเสนอญัตติด้วยกันทั้งหมด 109 เรื่อง และเสนอญัตติด้วยวาจาทั้งหมด 23 ญัตติ

ในเดือนตุลาคม 2566 ประธานสภากรุงเทพมหานครยังได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปร่วมรับฟังการประชุมสภากรุงเทพมหานครได้ ณ ห้องสังเกตการณ์ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ซึ่งนับจนถึงเดือนเมษายน มียอดผู้เข้าร่วมรับชมการประชุมของสภากรุงเทพมหานคร ทั้งสิ้น 296 คน ประกอบด้วยประชาชนจากพื้นที่ 28 เขต และการเปิดสมัยประชุมสภากรุงเทพมหานครในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับชมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ก็สามารถเดินทางเข้ามาร่วมรับชมการประชุมสภากรุงเทพมหานครได้เช่นเดียวกัน

จัดตั้งคณะกรรมการ ร่วมติดตาม ตรวจสอบการทำงานครบทุกมิติ

การทำงานของส.ก. ในการเป็นคณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานครต่างๆ เพื่อให้สามารถสะท้อนและรับฟังปัญหาได้อย่างครอบคลุม ก็ถือเป็นหน้าที่สำคัญในฐานะส.ก.เช่นกัน โดยการแถลงข่าวในวันนี้ ได้เชิญประธานคณะกรรมการสามัญทั้ง 3 ท่านขึ้นร่วมแถลงผลงาน นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการสาธารณสุข กล่าวว่า สภากทม.มีการผลักดันการก่อสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่กทม. เช่น โรงพยาบาลในเขตบางนา คลองสามวา ภาษีเจริญ สายไหม และยกระดับปรับปรุงศูนย์สาธารณสุขให้มีความทันสมัยมากขึ้น นางลักขณา ภักดีนฤนาถ ในฐานะประธานคณะกรรมการการศึกษา กล่าวว่า โรงเรียนในกรุงเทพมหานครมีทั้งหมด 437 โรงเรียน ขณะนี้คณะกรรมการการศึกษามีการติดตามการทำงานของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง มีการประชุมหารือร่วมกับสำนักการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดภาคเรียน โดยจะเชิญผู้บริหารเขต หัวหน้าฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รายงานความต้องการของโรงเรียนในเขตและให้เข้าแก้ไขปัญหาของแต่ละโรงเรียน เช่น ในการเปิดภาคเรียน โรงเรียนต้องการกำลังสนับสนุนในการลอกท่อ พ่นยุง การตัดหญ้าตัดต้นไม้บริเวณรอบโรงเรียน เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน และในอนาคตมีแผนจะยกระดับโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร เป็นโรงเรียนนานาชาติกรุงเทพมหานคร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และ นางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี ในฐานะคณะกรรมการการจราจรและการขนส่ง กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการฯมีการผลักดันด้านการติดกล้อง CCTV ตามถนนต่างๆให้ครอบคลุม และการปรับปรุงทางเท้าเพื่อผู้พิการ ให้มีความสะดวก ปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งยังมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงและร่วมหาแนวทางช่วยกันแก้ไขปัญหาการติดขัดของการจราจรอย่างต่อเนื่อง โดยการดำเนินการทุกอย่างจะต้องอยู่ภายใต้กรอบอำนาจของกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ยังมี คณะกรรมการวิสามัญ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาปัญหาเรื่องต่างๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร และเสนอรายงานผลการศึกษาต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณา โดยในปี พ.ศ. 2565 – 2567 มีการจัดตั้งคณะกรรมการวิสามัญทั้งสิ้น จำนวน 24 คณะ จำแนกเป็นคณะกรรมการวิสามัญที่ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ จำนวน 12 คณะ อาทิ คณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาสัตว์จรจัดในกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการใช้กัญชาหรือกัญชงบริเวณใกล้สถานที่เปราะบาง คณะกรรมการวิสามัญศึกษาความคุ้มค่าในการซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่างและแนวทางในการดำเนินการติดตั้ง และคณะกรรมการวิสามัญที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษา จำนวน 12 คณะ เช่น คณะกรรมการวิสามัญศึกษาการนำเทคโนโลยี IOT (Internet of Things) เข้ามาปรับใช้การปฏิบัติงานด้านการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยในสถานพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร

จัดโครงการ Open House เปิดบ้านต้อนรับเครือข่าย ร่วมเสนอแนะแนวทาง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

สภากรุงเทพมหานคร เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่มีจิตสาธารณะ และร่วมเป็นอาสาสมัคร โดยผ่านการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ สามารถนำไปปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในหลากหลายสาขา โดยสภากรุงเทพมหานครได้จัดให้มีการเยี่ยมชมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดโอกาสให้คนทำงานได้สะท้อนปัญหา อุปสรรคของการปฏิบัติหน้าที่ให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้รับทราบ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาแนวทางการแก้ไข เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงยังเป็นการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ภารกิจของสภากรุงเทพมหานคร ไปสู่ประชาชนให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งรับทราบบทบาทหน้าที่และความสำคัญของสภากรุงเทพมหานครต่อการพัฒนากรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ กิจกรรมการเยี่ยมชมสภากรุงเทพมหานคร จัดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง คือ 1.ชมรมผู้สูงอายุ จาก 50 เขต จำนวน 200 คน 2.อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จากศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย จำนวน 69 แห่ง จำนวน 138 คน 3.อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) จาก 50 เขต จำนวน 100 คน และ 4.อาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก (ผดด.) ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร จาก 45 เขต จำนวน 100 คน

จับมือหน่วยงานภายใน-ภายนอก ต่อเนื่องถึงจังหวัดปริมณฑล แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ต่อยอดการทำงาน

การประชุมร่วมกับองค์กรสำคัญในกรุงเทพมหานคร จัดขึ้นเพื่อประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างสภากรุงเทพมหานครและองค์กรสำคัญในกรุงเทพมหานครที่ดำเนินงานด้านสาธารณูปโภคร่วมกัน ที่ผ่านมาสภากรุงเทพมหานคร โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้ง 50 คน ได้เป็นสื่อกลางในการสะท้อนปัญหาจากประชาชนในการแก้ไขปัญหา แต่ภารกิจจะไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ หากปราศจากความเข้าใจและการสื่อสารที่ชัดเจนร่วมกัน จึงจัดให้มีการประชุมหารือนัดสำคัญขึ้น เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 โดยหน่วยงานที่เข้าร่วม ประกอบด้วย การประปานครหลวง (กปน.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง

นอกเหนือจากการหารือด้านสาธารณูปโภคแล้ว ยังประสานให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง เข้าหารือรับฟังความคิดเห็นของส.ก. เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการปรับปรุงร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และความต้องการของประชาชน รวมถึงเชิญจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เข้าชี้แจงผลการศึกษาและนำเสนอแนวทางการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากส.ก.ที่มีต่อแนวความคิดการจัดทำ (ร่าง) แผนขั้นตอนการดำเนินงาน (Road Map) เพื่อให้เกิดการทำงานที่ครอบคลุม รอบด้าน นอกจากการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้ว สภากรุงเทพมหานครยังได้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารงานร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปริมณฑล ซึ่งมีพื้นที่รอยต่อกับกรุงเทพมหานคร มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันในบางพื้นที่ จึงจัดให้มีการประชุมกับ 2 จังหวัดปริมณฑล คือ จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และร่วมกันหารือในประเด็นการจัดการน้ำท่วม น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง และการจัดการขยะ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการประสานงานและพัฒนาพื้นที่รอยต่อของจังหวัดได้อย่างดี

สานสัมพันธ์ กระชับมิตร สภาบ้านพี่เมืองน้องอย่างใกล้ชิด 

สภากรุงเทพมหานคร ยังคงเดินหน้าภารกิจด้านการต่างประเทศ เพื่อให้กรุงเทพมหานครก้าวสู่การเป็นมหานครชั้นนำแห่งเอเชีย โดยร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนขยายความสัมพันธ์ “สภาบ้านพี่เมืองน้อง” ซึ่งถือเป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ

ปัจจุบันสภากรุงเทพมหานครได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างเมืองต่างๆ ทั้งหมด 17 เมือง มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการบริหารจัดการเมือง การท่องเที่ยว การขนส่งสาธารณะ การศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้กับการบริหารงานของสภากรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร

นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่หนึ่ง กล่าวว่า การเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ในตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เป็นการกระชับความสัมพันธ์ของสภาบ้านพี่เมืองน้องให้แน่นแฟ้นขึ้น การเดินทางในแต่ละครั้งก็จะมีการนำการศึกษาของคณะกรรมการทั้ง 12 คณะมาหารือ ทำการแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานของกรุงเทพมหานคร โดยประเด็นที่น่าสนใจจากการเยือนสภาเมืองต่างๆ เช่น ด้านสวัสดิการและการดูแลผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่น สมาร์ทซิตี้เมืองอัจฉริยะของกรุงโซลที่มีการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว หน่วย งาน Start up ของเมืองอินชอนประเทศเกาหลีใต้ การขนส่งสาธารณะแบบไร้คนขับของกรุงปักกิ่ง การแลกเปลี่ยนนักเรียนอาชีวะจากไทยมายังนครคุนหมิง การควบคุมมลพิษทางอากาศ และการป้องกันน้ำท่วมของมองโกเลีย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ก่อเกิดการพัฒนาและผลักดันโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคต จากนั้น นายอำนาจ ปานเผือก รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่สอง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการไปเยือนเมืองต่างๆแล้ว สภากรุงเทพมหานครยังมีการต้อนรับคณะจากต่างประเทศในโอกาสเดินทางมาแลกเปลี่ยนความรู้กับกรุงเทพมหานครด้วย ซึ่งก็จะมีการนำองค์ความรู้ของกรุงเทพมหานครไปปรับใช้กับประเทศของตัวเองด้วยเช่นกัน และจะมีการปรับปรุง MOU ให้มีความทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น

สำหรับภารกิจของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ชุดที่ 13 ในอีก 2 ปีข้างหน้า ประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดผ่านทางเฟซบุ๊กเพจสภากรุงเทพมหานคร เว็บไซต์สภากรุงเทพมหานคร และรับชมการนำปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพมหานครเข้าสู่สภากทม. ให้ได้รับการเร่งแก้ไขได้ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่3 ได้ในเดือนกรกฎาคมนี้

——————–

ผู้ชมทั้งหมด 540 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top