skip to Main Content
สภากทม. เข้าเยี่ยมคารวะประธานสภากรุงอูลานบาตอร์ ประชุมแลกเปลี่ยนความร่วมมือระดับทวิภาคีเพื่อกระชับความสัมพันธ์สภาบ้านพี่เมืองน้อง

สภากทม. เข้าเยี่ยมคารวะประธานสภากรุงอูลานบาตอร์ ประชุมแลกเปลี่ยนความร่วมมือระดับทวิภาคีเพื่อกระชับความสัมพันธ์สภาบ้านพี่เมืองน้อง

(22 พฤษภาคม 2567) เวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศมองโกเลีย นายจิรเสกข์ วัฒนะมงคล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตธนบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการสภา พร้อมด้วยคณะผู้แทนจากสภากรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายอาฤทธิ์ ศรีทอง รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม เข้าเยี่ยมคารวะนายบัตบายาสกาลัน จันท์สาน (Mr.Batbayasgalan Jantsan) ประธานสภากรุงอูลานบาตอร์ และคณะผู้แทนสภากรุงอูลานบาตอร์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนความร่วมมือระดับทวิภาคีภายใต้กรอบความสัมพันธ์สภาบ้านพี่เมืองน้อง
.
ในการนี้นายจิรเสกข์ วัฒนะมงคล ได้กล่าวขอบคุณประธานสภากรุงอูลานบาตอร์และคณะผู้แทนที่ให้การต้อนรับอย่างดี พร้อมทั้งกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเดินทางมาในครั้งนี้เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกรุงเทพมหานครและกรุงอูลานบาตอร์เพื่อประโยชน์ในด้านการพัฒนาและบริหารกิจการเมืองร่วมกันในอนาคต
.
ภายหลังจากการเข้าเยี่ยมคารวะ คณะผู้แทนฯ ได้เข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในหัวข้อด้านการจัดการศึกษาในภาครัฐ ณ สถาบันพัฒนาอาจารย์ กรุงอูลานบาตอร์ โดยรัฐธรรมนูญแห่งมองโกเลียซึ่งได้รับการรับรองในปี พ.ศ. 2535 กำหนดให้พลเมืองทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี 15 ปี และมีสิทธิเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงสอดคล้องกับบรรทัดฐานสากล โดยแบ่งระบบการศึกษาภาคบังคับในโรงเรียนออกเป็นสามระยะ ได้แก่ การศึกษาก่อนวัยเรียน การศึกษาระดับประถมศึกษาและการศึกษาระดับมัธยมศึกษา
.
จากนั้น คณะผู้แทนฯ ได้เดินทางไปยังศูนย์การประปาและระบบระบายน้ำเสียแห่งเมืองอูลานบาตอร์เพื่อเข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการการบริหารจัดการน้ำของเมือง ซึ่งหน่วยงานนี้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 มีทรัพยากรน้ำที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นระบบน้ำบาดาลที่ได้ขุดและสูบขึ้นมาเพื่อใช้และแจกจ่ายตามบ้านเรือนในเมือง โดยมีการบริหารจัดการน้ำ และระบบบำบัดน้ำเสียในปัจจุบันที่กำลังผลิตและการบริหารจัดการน้ำดีประมาณ 170,000 – 190,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และบำบัดน้ำเสียเพื่อระบายน้ำทิ้งประมาณ 180,000 – 220,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์บริหารจัดการน้ำแห่งใหม่ที่จะสามารถผลิตน้ำดีเพื่อรองรับการใช้งานของเมืองให้ได้ถึง 250,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันภายในสิ้นปี พ.ศ. 2567
——————————

ผู้ชมทั้งหมด 332 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top