skip to Main Content
เสนอกทม.แก้กฎหมายควบคุมปัญหาเผาหญ้าในพื้นที่ลาดกระบังที่แก้ปัญหาได้จริง หลังพบสถิติการเผาปี 67 สูงกว่า 533 เคส

เสนอกทม.แก้กฎหมายควบคุมปัญหาเผาหญ้าในพื้นที่ลาดกระบังที่แก้ปัญหาได้จริง หลังพบสถิติการเผาปี 67 สูงกว่า 533 เคส

ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (10 เม.ย.67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตลาดกระบัง ยื่นกระทู้ถามสด เรื่องการแก้ไขปัญหาและการลักลอบเผาขยะ สิ่งปฏิกูล และซากผลิตผลทางการเกษตรในที่ดินรกร้างว่างเปล่าในพื้นที่เขตลาดกระบัง
.
“ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่สภากทม. อยากจะฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่การเคหะแห่งชาติ ที่รกร้าง เกิดเหตุเผาไหม้เป็นประจำ ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนชาวลาดกระบังที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง กรุงเทพมหานครควรกำหนดมาตรการจริงจังเพื่อเอาโทษเจ้าของพื้นที่รกร้าง และเอาผิดกับมือเผาหญ้า และกทม.ต้องออกเป็นข้อบัญญัติเพื่อให้เจ้าของที่ต้องเสียค่าดำเนินการการดับเพลิงให้กับรัฐ รัฐจำเป็นต้องฟ้อง เพื่อเป็นค่าดับเพลิง ค่าเจ้าหน้าที่ ค่าสารเคมี และค่าสึกหรออุปกรณ์ เป็นการเพิ่มค่าปรับให้มากขึ้น และเจ้าของที่ดินรกร้างเอาจริงเอาจังในการป้องกันปัญหา”
.
นายสุรจิตต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเขตลาดกระบังเกี่ยวกับการลักลอบเผาขยะ สิ่งปฏิกูล และซากผลิตผลทางการเกษตรในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ทั้งที่ดินส่วนบุคคลและที่ดินของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งสำนักงานเขตลาดกระบังได้มีหนังสือประสานขอความร่วมมือไปยังเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่รกร้างให้ดำเนินการล้อมรั้วให้มิดชิดแล้ว แต่กลับเพิกเฉยไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทำให้ประชาชนลักลอบเผาในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนี้ 1.กทม.บริหารจัดการขยะครบวงจรแล้วหรือยัง 2.กทม.เคยเสนอการแก้ไขกฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ และ 3.มีมาตรการการประชาสัมพันธ์ที่ทิ้งขยะเพียงพอหรือไม่
.
สำหรับสถิติการเผาหญ้าในพื้นที่เขตลาดกระบังมีอัตราสูงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนอาคาร ยานพาหนะ และไฟฟ้าลัดวงจร โดยในปี 65 พบการเผาหญ้า จำนวน 176 ครั้ง ปี 66 พบการเผาหญ้า เพิ่มเป็น 357 ครั้ง และในปี 67 พบการเผาหญ้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 533 ครั้ง ซึ่งมากกว่าเหตุที่เกิดขึ้นในปี 65 และ 66 รวมกัน แสดงให้เห็นว่ามาตรการแก้ไขปัญหาที่กรุงเทพมหานครดำเนินการแก้ไขปัญหาไม่ได้จริง โดยโทษตามกฎหมายที่กำหนดเพื่อเอาผิดผู้ที่เผา ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน คือ โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท แต่จากสถิติการเผาใน 65 และ 66 ยังไม่เคยมีการจับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดีได้เลย
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องการเผาขยะกทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่จับได้ยาก เพราะคนเผาไม่ได้อยู่ให้จับ แต่หากประชาชนร่วมมือ แจ้งเหตุทันทีที่พบ กทม.จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการทันทีเช่นกัน ยืนยันว่ากทม.ไม่ได้ละเลย แต่กทม.มีพื้นที่จำนวนมาก หากชุมชนมีเบาะแส หรือส.ก.ทราบขอให้แจ้งมา กทม.จะดำเนินการตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดทันที
.
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจับปรับผู้ที่ปล่อยให้มีการทิ้งขยะในที่ตนเอง กทม.ได้มีมาตรการดำเนินการ 2 มาตรการ อย่างแรกคือการสำรวจที่รกร้างว่างเปล่า จากการหารือผู้อำนวยการเขตลาดกระบังทราบว่า ตั้งแต่เดือนมิ.ย.66 ถึงปัจจุบัน พบว่ามีที่รกร้าง จำนวน 227 แปลง แก้ไขแล้ว 7 แห่ง ในส่วนมาตรการกฎหมายก็เป็นเรื่องสำคัญ กทม.มีพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องและนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวถึง 7 ฉบับที่ สปภ. (สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) จึงนำพ.ร.บ.ทั้ง 7 ฉบับมาประมวลสรุปเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการปฏิบัติ นอกจากนี้หลังจากปี 66 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเข้าดำรงตำแหน่ง ได้มีบันทึกสั่งการไปอีก 1 ฉบับ ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นหน้าที่ 50 เขตที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา สำหรับเขตลาดกระบังได้เสนอให้กรุงเทพมหานครหารือกับการเคหะแห่งชาติเพื่อแก้ไขร่วมกัน ภายในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือและคาดว่าจะมีแนวทางการปฏิบัติที่ดีขึ้น ในส่วนของการแก้ไขกฎหมาย สำนักเทศกิจอยู่ระหว่างการประมวลคำแนะนำ ข้อสังเกตของหน่วยงานเพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ปฏิบัติให้มากขึ้น
—————– 

ผู้ชมทั้งหมด 915 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 6 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top