skip to Main Content
เสนอกทม.เข้มงวดมาตรการป้องกันและลดฝุ่น PM2.5 ในศาสนสถาน

เสนอกทม.เข้มงวดมาตรการป้องกันและลดฝุ่น PM2.5 ในศาสนสถาน

📍ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (24 ม.ค.67) ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) นางสาวนิภาพรรณ จึงเลิศศิริ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการป้องกันและลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของศาสนสถานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
.
📢เนื่องจากศาสนสถาน ได้แก่ วัด ศาลเจ้า เทวสถาน และสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอื่น นิยมจุดธูปเทียนเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือในช่วงเทศกาลตรุษจีนจะมีการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด จากข้อมูลงานวิจัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบว่า การจุดธูปเพียง 3 ดอก เทียบเท่ากับการสูดควันรถบริเวณที่มีการจราจรคับคั่ง และการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ทำให้เกิดสารในกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน เบนซิน บิวทาไดอีน ซึ่งล้วนเป็นสารก่อมะเร็ง อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้มีการรณรงค์ป้องกันมลพิษทางอากาศมาอย่างต่อเนื่อง แต่การจุดธูปและการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น จึงขอให้กรุงเทพมหานครเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการป้องกันและลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของศาสนสถานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น เลือกใช้ธูปสั้นแทนธูปยาว หรือใช้ธูปอิเล็กทรอนิกส์ทดแทนธูปจริง ลดหรืองดการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง หรือใช้เตาเผาขยะปลอดมลพิษ จะเป็นการช่วยลดมลพิษลงไปได้มาก
.
🚨“ปัจจุบันค่าฝุ่นPM 2.5 ในกทม.สูงขึ้นมากจนทำให้ค่าฝุ่นในพื้นที่สูงจนติดอันดับโลก ซึ่งการเผาในศาสนสถานก็มีส่วนสำคัญในการสร้างมลพิษ ควันธูป 1 ดอก มีค่าเท่ากับบุหรี่ 1 มวน รวมทั้งกระดาษเงิน กระดาษทอง ก็มีสารก่อมะเร็งเช่นกัน ผู้ที่ทำงานในศาลเจ้าจึงมีการสะสมของสารก่อมะเร็งในร่างกายมากถึง 4 เท่า เขตป้อมปราบฯเป็นพื้นที่ขนาดเล็กแต่มีศาสนสถาน วัด 11 แห่ง และศาลเจ้า 6 แห่ง ทำให้ติดอันดับพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูงเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนจะมีประชาชนเดินทางมากราบไหว้ และจุดธูปสักการะเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมามีการรณรงค์ขอความร่วมมือในการงดจุดธูปไปแล้ว และได้รับความร่วมมือในการงดและลดปริมาณธูปอย่างต่อเนื่อง แต่อยากให้กทม.ออกกฎเพื่อควบคุมอย่างจริงจัง และขอความร่วมมือจากInfluencer ในการร่วมรณรงค์เชิญชวนประชาชน”
จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตตินี้ ประกอบด้วย นางอนงค์ เพชรทัต ส.ก.เขตดินแดง นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย
.
⭐️รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด อาทิ ด้านการจราจรมีการกำกับไม่ให้มีควันดำ การตรวจจับรถที่ไม่ได้มาตรฐาน การควบคุมพื้นที่ก่อสร้างและสถานประกอบกิจการประเภทปิ้งย่าง และการควบคุมศาสสถานด้วย นอกจากนี้จะมีการศึกษาแนวทางอำนาจของผู้ว่าฯกทม.เพื่อจำกัดกิจกรรมในช่วงที่มีค่าฝุ่นระดับสีส้มและแดง รวมทั้งในเดือนก.พ.จะมีแผนปฏิบัติการเฉพาะฝุ่น PM2.5 เพื่อควบคุมกิจกรรมในช่วงฝุ่นจำนวนมาก และกิจกรรมอื่น ๆ ตลอดทั้งปี ในเรื่องของการรณรงค์ประชาสัมพันธ์จะขอรับข้อสังเกตของสภากรุงเทพมหานครไปปฏิบัติและปรับปรุงเพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น
.
⭐️รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ฝ่ายบริหารจะได้หารือมาตรการก่อสร้างและมาตรการการคืนผิวจราจรกับการประปานครหลวงเพื่อให้คืนผิวจราจรโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และเป็นการลดปริมาณฝุ่นที่จะเกิดจากการก่อสร้างด้วย
.
⭐️ว่าที่ร้อยตรี วิรัช ตันชนะประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า เรื่องฝุ่น PM2.5 สำนักสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการดูแลแหล่งกำเนิดมลพิษตลอดทั้งปี และมีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนทราบวันละ 3 ครั้งเพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัวก่อนออกจากบ้าน และจะดำเนินในมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การแจ้งเตือนคุณภาพอากาศในสถานศึกษา พร้อมให้ข้อมูลแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมกับคุณภาพอากาศในช่วงต่าง ๆ การแจ้งเตือนผ่านระบบ Line Alert การกำจัดแหล่งกำเนิดมลพิษตั้งแต่ต้นตอ การขอความร่วมมือสถานประกอบการ Work from home การรณรงค์ให้รถยนต์เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้สำนักอนามัยจะได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน การตั้งคลินิกมลพิษในรพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ปัญหาฝุ่นละออง เกิดจาก 3 องค์ประกอบ คือ สภาพภูมิอากาศ ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ องค์ประกอบที่ 2 คือ สภาพลม ซึ่งก็ควบคุมไม่ได้เช่นกันแต่องค์ประกอบที่ 3 คือแหล่งกำเนิด เป็นสิ่งที่กรุงเทพมหานครพยายามที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
———————————
 

ผู้ชมทั้งหมด 433 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top