นาย คำรณ โกมลศุภกิจ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2564
วันที่ 29 กันยายน 2564 นาย คำรณ โกมลศุภกิจ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2564 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
ในวันนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้พิจารณาญัตติขอกันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กรณีกันเงินไม่มีหนี้ผูกพันของกรุงเทพมหานคร โดยคณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานคร ทั้ง 10 คณะ ได้รายงานผลการพิจารณารายละเอียดโครงการที่เกี่ยวข้อง ต่อที่ประชุมฯ ในประเด็นต่างๆ รวมทั้งตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในหลายกรณี ทั้งนี้มีบางหน่วยงานที่ขอถอนโครงการเนื่องจากคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ทันภายในปีนี้ จึงไม่ขอกันเงินไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี ซึ่งที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบ รวมทั้งมีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครเสนอขอกันเงินงบประมาณ ปีพ.ศ. 2564 ไว้เบิกจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 481 รายการ/โครงการ วงเงินงบประมาณกว่า 3,846 ล้านบาท
จากนั้น นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดระเบียบการจอดรถ พ.ศ. …. ต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2562 บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจตราข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบการจอดรถ กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมจอดรถในที่จอดรถ ซึ่งอัตราที่กำหนดต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงดำเนินการปรับปรุงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยการจัดระเบียบการจอดยานยนตร์ ซึ่งที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติฯ และแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดระเบียบการจอดรถ พ.ศ. …. จำนวน 11 ท่าน กำหนดแปรญัตติ 5 วันทำการ
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เนื่องจากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน พ.ศ. 2536 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดรายการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน จำนวน 10 ประเภท เพื่อให้คณะกรรมการชุมชนซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนาชุมชนโดยการมีส่วนร่วม ของสมาชิกชุมชน ทั้งในด้านกายภาพ เศรษฐกิขและสังคม และระดมทรัพยากรในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการส่งเสริมวัฒนธรรม ศีลธรรม และประเพณีอันดีงาม
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติฯ และเห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนการพัฒนาชุมชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 13 ท่าน กำหนดแปรญัตติ 5 วันทำการ
ผู้ชมทั้งหมด 857 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง