สภากทม.เปิดอภิปรายถกปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้า
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 10.00 น. นายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2564 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
ในที่ประชุม สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้เสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร การกำหนดอัตราค่าโดยสาร และสถานะหนี้สินในปัจจุบัน ซึ่งการอภิปรายครั้งนี้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายอย่างกว้างขวาง
พล.ต.ท.ธีรศักดิ์ ง่วนบรรจง กล่าวว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ประกอบกับการประกาศอัตราค่าโดยสารจำนวน 104 บาทนั้น นับตั้งแต่สภากรุงเทพได้เห็นชอบในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา สภากรุงเทพมหานครยังมิได้รับทราบผลการดำเนินการโครงการดังกล่าวจากฝ่ายบริหาร ทำให้สภากรุงเทพมหานครไม่อาจดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้เสนอญัตติในครั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการบริหารงานตามกฎหมาย ภายใต้ความคุ้มค่า และความโปร่งใส ตลอดจนการเข้าไปยอมรับสภาพหนี้และการก่อหนี้ผูกพันของกรุงเทพมหานคร
นายธวัชชัย ฟักอังกูร กล่าวว่า ภายหลังจากที่กรุงเทพมหานคร ได้รับการถ่ายโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำให้กรุงเทพมหานครมีภาระต้องจ่ายหนี้สินที่เกิดขึ้น กว่า 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีภาระหน้าที่หลากหลาย ทั้งการรักษาความสะอาด การโยธาและระบบจราจร การจัดเก็บขยะ กำจัดน้ำเสีย ระบบสาธารณสุข การศึกษา งบประมาณที่มีจำกัดและน้อยลง อาจทำให้การจัดบริการสาธารณะของกรุงเทพมหานครลดน้อยลงส่งผลกระทบต่อประชาชนในกรุงเทพมหานคร จึงมีข้อเสนอแนวทางการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยให้กรุงเทพมหานครขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าเป็นการถ่ายโอนภารกิจมาให้กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาจนถึงปี 2572 ทั้งนี้หากเห็นว่าหนี้ที่เกิดจากการรับโอนโครงการสมควรให้เป็นภาระของเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการ โดยให้ประโยชน์ตอบแทนในรูปของค่าโดยสารและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรปรับรูปแบบการดำเนินการจากสัญญาจ้างเดินรถ (กรุงเทพมหานครต้องรับผิดชอบในมูลหนี้ทั้งหมด) เป็นสัญญาสัมปทาน (เอกชนรับภาระหนี้แทน) แทนกรุงเทพมหานคร
นายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา กล่าวว่า ในอดีตรถไฟฟ้าเป็นเพียงการคมนาคมทางเลือก แต่ด้วยกระแสความนิยมของประชาชนทำให้ปัจจุบันรถไฟฟ้ากลายเป็นการคมนาคมระบบหลัก และด้วยระบบคมนาคมเป็นการบริการของภาครัฐที่ต้องจัดให้ประชาชนจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการ อย่างไรก็ตามการให้เอกชนเข้ามาดูแลทำให้ภาครัฐไม่สามารถเข้าไปกำหนดอัตราค่าโดยสารได้อย่างเต็มที่
นายอภิรัตน์ ศิวพรพิทักษ์ ได้เสนอทางเลือกในการดำเนินการให้แก่กรุงเทพมหานคร ดังนี้ ทางเลือกที่ 1 กรุงเทพมหานครควรเปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานใหม่ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดให้ในสัญญาข้อ 27 (การขยายอายุสัญญาและสิทธิในการดำเนินงานในเส้นทางสายใหม่ก่อนบุคคลอื่น) กล่าวคือ BTS จะเป็นรายแรกที่ได้รับโอกาสในการขยายอายุสัมปทานและขยายเส้นทางของระบบ ข้อดี คือ กรุงเทพมหานครสามารถกำหนดค่าตอบแทนในสัมปทานได้สูงขึ้นเพราะมีการแข่งขันเมื่อมีการแข่งขันสูงขึ้นก็อาจจะบริหารจัดการให้ค่าโดยสารถูกลงได้ ทางเลือกที่ 2 กรุงเทพมหานครเลือกที่จะไม่ต่ออายุสัญญา โดยภายหลังหมดอายุสัมปทานในปี 2572 กรุงเทพมหานครจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งระบบ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการทั้งหมดโดยจ้าง BTS เดินรถในหลายสัญญาจ้างในปี 2585 และทางเลือกที่ 3 ขยายสัมปทานให้ BTS เป็น 30 ปี (2572-2602) เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องกระแสเงินสดและหนี้ตามทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 รวมทั้งข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในเชิงบูรณาการ อย่างไรก็ดีทุกทางเลือกมีข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ผลกระทบจะมีต่อการเดินรถไฟฟ้าทั้งระบบ ซึ่งกรุงเทพมหานครจำเป็นต้องเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย ภายใต้อัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การขนส่งมวลชนในรูปแบบรถไฟฟ้าถือเป็นการการเดินทางทางเลือกหนึ่งที่รัฐจัดให้ประชาชน ซึ่งนอกจากสามารถเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนแล้ว ยังสามารถแก้ไขปัญหาจราจร ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แก้ไขปัญหามลพิษในระยะยาวได้ด้วย ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้บริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าโดยมิได้หวังผลกำไรแต่อย่างใด มุ่งหวังเพียงการนำภาษีประชาชนมาบริหารจัดการเพื่อให้บริการคืนกลับแก่ประชาชนอย่างคุ้มค่าสูงสุด ซึ่งไม่ได้หมายถึงการบริหารจัดการรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น กรุงเทพมหานครยังมีภารกิจการบริหารจัดการด้านอื่นๆ และสาธารณูปโภคตามหน้าที่ซึ่งต้องดูแลอีกหลายประการ
จากนั้น พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติขอความเห็นชอบการโอนงบประมาณรายจ่ายไปตั้งจ่ายเป็นรายการและหน่วยรับงบประมาณอื่น เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในการสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ สร้างความร่มรื่นให้แก่เมืองรวมทั้งส่งเสริมการทำงานของระบบสาธารณูปโภคเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพมหานครให้ดีขึ้น โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาก่อนให้ความเห็นชอบ โดยตั้งคณะกรรมการจำนวน 11 คน กำหนดระยะเวลาในการพิจารณา 15 วัน
ผู้ชมทั้งหมด 1,063 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง