skip to Main Content

ตอนที่ 10 โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย กับบทบาท “คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร”

โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย เป็นแผนการก่อสร้างที่รัฐบาลมอบหมายให้สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ดำเนินงานพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ซึ่งคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร ต้องเข้าไปตรวจสอบ เพื่อให้การดำเนินงานของฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร อยู่ในกรอบพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562

การจราจรติดขัด คือ ปัญหาใหญ่ของคนกรุง ซึ่งขณะนี้ หนึ่งในแผนงานพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหานี้ คือ “โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย” ที่รัฐบาลมอบหมายให้สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เข้ามาดำเนินงาน แต่ระหว่างเดินหน้าทำงาน คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร ก็ต้องเข้าตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน ดังนั้น บทบาทของคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร ที่มีต่อโครงการนี้ เป็นอย่างไร ? มาให้ติดตามกัน

ที่มาของโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย
โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย เป็นแผนการก่อสร้างตามผลการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency หรือ JICA) ที่รัฐบาลมอบหมายให้สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ดำเนินงานพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2547 จนกระทั่งเวลาต่อมา ทำเลที่ตั้งของ “สัปปายะสภาสถาน” (อาคารรัฐสภาแห่งใหม่) อยู่ใกล้กับโครงการนี้ จากนั้น การก่อสร้างสัปปายะสภาสถาน ดำเนินการเสร็จสิ้นและเปิดใช้งานก่อนแล้ว สำหรับลักษณะโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย คือ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาด 4-6 ช่องจราจร พร้อมทางยกระดับเชื่อมต่อฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ความยาวรวมประมาณ 5.9 กิโลเมตร มีทางขึ้น – ลง จำนวน 9 แห่ง
ค่าก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย รวมประมาณ 5,225,000,000 บาท งบประมาณจำนวนนี้ แบ่งเป็นงบประมาณจากรัฐบาล 50% และงบประมาณกรุงเทพมหานคร 50% ส่วนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และชดเชยการใช้ที่ราชพัสดุของทหาร รวมประมาณ 7,490,428,897 บาท ใช้งบประมาณของรัฐบาล

บทบาทของคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร ต่อโครงการนี้

นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ในฐานะประธานคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “เมื่อสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร ต้องตรวจสอบความคืบหน้าในการดำเนินงาน กรุงเทพมหานครมีเงินเท่าไหร่ จะทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร ตอนนี้ปัญหาอุปสรรคอยู่จุดไหน รัฐบาล และกรุงเทพมหานคร จะร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างไร ก็ต้องติดตามเรื่อง เพราะงานนี้เริ่มมาตั้งแต่ JICA สำรวจให้แล้ว”

สำหรับหัวใจหลักในการทำงานของคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร คือ การเข้าไปตรวจสอบ เพื่อให้การดำเนินงานของฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร อยู่ในกรอบพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562

นายนิรันดร์ กล่าวสรุปว่า “ขณะนี้ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร กำลังวางผังเมืองใหม่ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 โซนไหนเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง ซึ่งแต่ละจุด กำหนดส่วนสูงของตึกในระดับที่แตกต่างกัน คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร ก็ต้องเข้าไปดู เมื่อกฎหมายกำหนดมาแบบนี้ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง และสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ทำงานอย่างไร ส่งผลกระทบ หรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนหรือไม่ อย่างไร ขณะเดียวกัน เราก็ต้องตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และข้าราชการกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้องกับส่วนนี้ ถ้าพบปัญหาอะไร เราก็จะแจ้งให้แก้ไข หรือ แนะนำให้ปรับปรุง”

ฝากข้อเสนอแนะถึงสภากรุงเทพมหานคร ผ่านเว็บไซต์ของสภากรุงเทพมหานครที่ www.bmc.go.th
#ร่วมคิดร่วมสร้างกรุงเทพฯที่ดีขึ้น #BetterBangkok

ผู้ชมทั้งหมด 1,193 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 8 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top