คกก.วิสามัญศึกษาการก่อสร้างรพ.ให้ครอบคลุม เสนอแนวทางสร้างรพ.ใน 3 พื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงบริการของรัฐ ลดภาระค่าใช้จ่าย
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (17 เม.ย.67) นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตดอนเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการก่อสร้างโรงพยาบาลให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯ
.
“ความเป็นมาและปัญหาในเรื่องนี้เกิดจากประชาชนในกรุงเทพฯ ประสบปัญหาความแออัดเมื่อเข้ารับบริการในรพ.ของรัฐ ประกอบกับไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง และหากใช้บริการรพ.เอกชนต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่รพ.สังกัดกทม.มีเพียง 12 แห่ง ซึ่งไม่เพียงพอ จึงได้มีการศึกษาในเรื่องนี้ โดยพิจารณาข้อมูลเบื้องต้นพบว่าการก่อสร้างรพ.สังกัดกทม.เพิ่มเติม อาจก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคด้านงบประมาณ การจัดหาพื้นที่ และบุคลากร จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมเพื่อศึกษารายละเอียดทั้งหมด 3 คณะ”
.
คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 3 คณะ ได้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ เพื่อให้ความเห็นข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามสภาพจริงของพื้นที่นั้น ๆ เนื่องจากรับทราบปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดี และได้รวบรวมเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการวิสามัญฯ ดังนี้
1. เขตยานนาวาควรมีการก่อสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ เนื่องจากเขตยานนาวาไม่มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่เขตยานนาวาและพื้นที่เขตใกล้เคียง เช่น เขตคลองเตยซึ่งมีประชาชนพักอาศัยอยู่หนาแน่น และเขตสาทร จากการศึกษาพบว่ามีพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างโรงพยาบาลคือพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ถนนพระราม 3 (ถนนเชื้อเพลิง) ที่มีขนาดเนื้อที่ จำนวน 200 ไร่ ซึ่งกรุงเทพมหานครอาจขอเช่าใช้พื้นที่บางส่วนใช้ในการก่อสร้างโรงพยาบาล
2. เขตดอนเมืองกรุงเทพมหานครควรเร่งรัดการดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่เขตดอนเมือง เนื่องจากมีการศึกษาข้อมูล สำรวจสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากรของสำนักการแพทย์ในพื้นที่กลุ่มเขตพบว่ากลุ่มเขตกรุงเทพเหนือมีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากรน้อยที่สุด เท่ากับ 2.19 : 1,000 คน กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือมีเขตที่มีสัดส่วนจำนวนเตียงต่อประชากรน้อยที่สุด คือ เขตดอนเมืองมีสัดส่วน 0.77 : 1,000 คน ซึ่งเขตดอนเมืองมีประชากร จำนวน 166,747 คน มีโรงพยาบาล 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) สังกัดกรมการแพทย์ทหารอากาศ กองทัพอากาศ ปัจจุบันให้บริการ จำนวน 50 เตียง แต่ภารกิจหลักเป็นการให้การดูแลรักษากำลังพลของทหารอากาศ จึงจำเป็นต้องมีการก่อสร้างโรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เขตดอนเมืองและเขตใกล้เคียงรวมทั้งประชาชนในพื้นที่ จังหวัดใกล้เคียงได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่สะดวกและเพียงพอ โดยมีพื้นที่เหมาะสมที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ศึกษาไว้จำนวน 2 แห่ง คือ พื้นที่ค่ายลูกเสือพิศลยบุตร ตั้งอยู่บริเวณถนนสรงประภา และพื้นที่ของวัดปากน้ำภาษีเจริญตั้งอยู่บริเวณถนนนาวงประชาพัฒนา
3.เขตทุ่งครุควรมีการก่อสร้างโรงพยาบาล เนื่องจากในพื้นที่เขตทุ่งครุไม่มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่จะรองรับการให้บริการ ทำให้ประชาชนเดินทางไปรักษาพยาบาลในพื้นที่เขตอื่นซึ่งไม่สะดวกและใช้เวลาเดินทางนาน ทั้งนี้ หากมีการก่อสร้างโรงพยาบาลในพื้นที่เขตทุ่งครุ จะมีภาคส่วนต่าง ๆ และประชาชนในพื้นที่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณโดยอาจจัดตั้งเป็นมูลนิธิหรือกองทุนให้การสนับสนุน ส่วนสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาล คณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอไว้คือพื้นที่โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (อาทร สังขะวัฒนะ) ปัจจุบันกรุงเทพมหานครขอเช่าพื้นที่จากทรัพย์สินฯ โดยมีเส้นทางที่ประชาชนใช้สัญจรผ่านสะดวกและมีหลายเส้นทาง
.
จากนั้น นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตทุ่งครุ และนายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตยานนาวา ในฐานะคณะกรรมการ ร่วมรายงานข้อมูลเพิ่มเติม
.
ทั้งนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมการวิสามัญฯ และจะได้ส่งรายละเอียดให้ฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
—————————
ผู้ชมทั้งหมด 397 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง