สภากทม. ติดตามความคืบหน้าติดตั้งป้ายรถเมล์รูปแบบใหม่ แก้ปัญหาไฟฟ้าดับ เพิ่มความปลอดภัยให้ชาวกรุงเทพฯ
(17 เม.ย.67) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
ในที่ประชุม นางสาวปิยะวรรณ จระกา สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตสวนหลวง ได้ตั้งกระทู้ถามสด เรื่อง การแก้ไขปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างดับ ขัดข้อง บริเวณศาลาที่พักผู้โดยสารหรือป้ายรถโดยสารประจำทางในพื้นที่เขตสวนหลวง เนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเขตสวนหลวงจำนวนมาก เกี่ยวกับไฟฟ้าส่องสว่างดับ ขัดข้อง บริเวณศาลาที่พักผู้โดยสารหรือป้ายรถโดยสารประจำทาง ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ประชาชนที่ต้องสัญจรในช่วงเวลากลางคืนไม่มีความปลอดภัย จึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่ากรุงเทพมหานครจะเร่งรัดแก้ไขปัญหาไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้เมื่อใด อย่างไร
.
“ปัญหาป้ายรถเมล์ไฟฟ้าดับเคยยื่นอภิปรายไปแล้ว แต่วันนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด ประชาชนต้องออกมายืนที่ถนนและรถเมล์เองก็มองไม่เห็นผู้โดยสาร ซึ่งเชื่อว่าปัญหานี้เกิดในหลายเขตเช่นกัน”
.
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรณีไฟฟ้าดับบริเวณศาลาผู้โดยสารเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากกทม.ได้จ้างเหมาเอกชนเพื่อดูแลรักษา แต่ขณะนี้สัญญาได้สิ้นสุดลง สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) จึงได้จ้างเหมาบริษัทรายใหม่ เพื่อดำเนินการ ระหว่างเดือนมี.ค.-ก.ย.67
.
“ปัญหาคือ มิเตอร์เดิมเป็นชื่อบริษัทที่จ้างเหมา สจส.ต้องทำการเปลี่ยนมิเตอร์เป็นชื่อกทม. โดยพื้นที่กรุงเทพฯใต้มีศาลาที่พักผู้โดยสาร 600 กว่าหลัง ทำให้เกิดไฟดับ ซึ่งขณะนี้กทม.ได้ชำระเงินให้การไฟฟ้านครหลวงไปแล้วกว่า 8 แสนบาท และการไฟฟ้านครหลวงอยู่ระหว่างบรรจบสายไฟเพื่อจ่ายกระแสไฟคาดว่าจะแล้วเสร็จมิ.ย.นี้ และแก้ปัญหาไฟฟ้าดับได้ ในระหว่างนี้ตามสัญญาได้ให้บริษัทติดตั้งไฟโซล่าเซลล์บริเวณศาลาที่พักผู้โดยสารเพื่อให้มีความสว่างขึ้น”
.
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่เขตสวนหลวง มีจุดศาลาที่พักผู้โดยสารทั้งหมด 58 หลัง โดยพบว่าเป็นเต้นท์ 4 หลัง เนื่องจากเจ้าของอาคารพาณิชย์ด้านหลังทักท้วงว่าจะบังหน้าร้าน ซึ่งหากใช้ศาลาที่พักผู้โดยสารแบบมาตรฐานต้องใช้พื้นที่ความกว้าง 5 เมตร สจส.จึงได้พยายามออกแบบขนาดเล็กลงมาเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน คาดว่ารูปแบบใหม่นี้จะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน จากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างต่อไป
.
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ในปี 67 นี้ กรุงเทพมหานครได้ออกแบบและติดตั้งป้ายรถเมล์มาตรฐานต้นแบบจำนวน 80 แห่ง และปี 68 จะสร้างเพิ่มอีก กว่า 100 แห่ง ให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น
.
ทั้งนี้สก.เขตสวนกลวง ได้ขอให้กทม.เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน และเพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชน
————————————
ผู้ชมทั้งหมด 799 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 6 ครั้ง