เห็นชอบตั้งคกก.วิสามัญฯสางปัญหาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (10 ก.ค.67) นายเอกกวิน โชคประสพรวย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตราชเทวี เสนอญัตติ ขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของกรุงเทพมหานครให้มีประสิทธิภาพ
.
ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของกรุงเทพมหานครเป็นสถานที่ดูแลเด็กก่อนวัยเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชนดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการชุมชน ซึ่งการดำเนินการมีปัญหาและข้อจำกัดที่ซับซ้อนและหลากหลายมิติ ทั้งในด้านสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟของศูนย์ฯ ด้านกายภาพ ด้านการเรียนการสอน ด้านสวัสดิการของผู้ดูแลเด็ก เช่น คุณครูได้รับเงินเดือนช้ากว่ากำหนด และด้านงบประมาณ รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเบิกค่าใช้จ่ายหรือการจัดซื้อจัดจ้างที่ยังไม่สอดคล้อง ครอบคลุมกับความต้องการ
.
“เด็กก่อนวัยเรียนเป็นพลเมืองและทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ การพัฒนาเด็กในช่วงวัยนี้เป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานครควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ ดังนั้น เพื่อให้เด็กก่อนวัยเรียนในชุมชนได้รับการพัฒนาตามวัยและมีความพร้อมในการศึกษาระดับต่อไป ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของกรุงเทพมหานครควรได้รับการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุโครงสร้างและตรงประเด็น รวมถึงควรดูแลสวัสดิการของผู้ดูแลเด็กให้อย่างครบถ้วน ยุติธรรมและเป็นมาตราฐาน จึงเสนอตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อให้สภากทม.ได้ร่างข้อบัญญัติร่วมกับฝ่ายบริหารในการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว” ส.ก.เอกกวิน กล่าว
.
สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตตินี้ ประกอบด้วย นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา และนายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตวัฒนา
.
จากนั้นนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงว่า ในกรุงเทพมหานครมีเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ จำนวน 280,000 คน ซึ่งมีสำนักการศึกษา สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม และสำนักการแพทย์ เป็นผู้ดูแลเด็กเล็กของสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอยู่ประมาณ 80,000 คน สำนักพัฒนาสังคมดูแลศูนย์เด็กเล็กผ่านข้อบัญญัติสนับสนุนชุมชน โดยมีเงินค่าอาหาร อาสาสมัคร ให้กับชุมชน แต่ยอมรับว่ายังทำได้ไม่ดีนัก ต้องการปรับเปลี่ยนแนวทางว่าทำอย่างไรจึงให้กรุงเทพมหานครสามารถดูแลเด็กให้มากขึ้น เร็วขึ้น และมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทางฝ่ายบริหารไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง จึงจำเป็นต้องทำงานควบคู่กับฝ่ายนิติบัญญัติอย่างสภากรุงเทพมหานคร ในการแก้ไขกฎหมายและข้อบัญญัติให้ชัดเจน ตรงประเด็นขึ้น หากมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาก็จะช่วยบรรเทาปัญหาที่ฝ่ายบริหารยังติดขัดอยู่ได้
.
จากนั้นที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของกรุงเทพมหานครให้มีประสิทธิภาพ จำนวน 16 ท่าน กำหนดระยะเวลาการศึกษา 150 วัน
—————————-
ผู้ชมทั้งหมด 288 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 6 ครั้ง