เร่งรัดกทม.ขับเคลื่อนเปลี่ยนเมืองด้วยพลังงานสะอาด ปลอดฝุ่น PM 2.5
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ในวันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ.2567 ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา ได้ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง ความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดให้รถโดยสารประจำทางเปลี่ยนเป็นรถโดยสารประจำทางที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
.
เนื่องด้วยกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือประสานขอความร่วมมือกรมการขนส่งทางบกให้พิจารณากำหนดมาตรการและขั้นตอนในการให้รถโดยสารประจำทางเปลี่ยนเครื่องยนต์จากชนิดอื่นเป็นรถโดยสารประจำทางที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน เป็นการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน จึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครถึงความคืบหน้าในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวว่าได้ดำเนินการถึงขั้นตอนใดและมีผลการดำเนินการอย่างไร
.
“ปี 64 รัฐบาลได้มีมติให้เปลี่ยนกฎระเบียบกำหนดมาตรฐานไอเสียรถยนต์โดยสารประจำทางให้เป็นตามมาตรฐานยูโร 5 และให้เริ่มใช้วันที่ 1 ม.ค. 67 และในปี 69 จะเปลี่ยนเป็นมาตรฐานยูโร 6 ซึ่งถือเป็นการพัฒนาที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด กรุงเทพมหานครจึงควรที่จะพิจารณาดำเนินการเร่งด่วนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ โดยการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญคือการเปลี่ยนรถสันดาปเป็นรถไฟฟ้า วันนี้จึงขอสอบถามความคืบหน้านับจากที่กทม.ส่งหนังสือไปสอบถามกรมขนส่งทางบก และความเป็นไปได้ในการแต่งตั้งคณะทำงานระหว่างฝ่ายบริหาร คณะกรรมการวิสามัญของสภากรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้เกิดการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้การแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครจะทำให้การกำหนดโครงสร้าง อำนาจหน้าที่ของกทม. สามารถแก้ปัญหาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตรงจุด ซึ่งหากกทม.แก้ไขได้ก็เชื่อว่าประเทศก็จะเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน” นายพุทธิพัชร์ กล่าว
.
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หนังสือที่กรุงเทพมหานครได้ส่งไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อแจ้งความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ และได้เสนอวาระต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเพื่อพิจารณาการกำหนดรถสาธารณะให้เป็นพลังงานสะอาดด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ตอบรับมาแต่อย่างใด
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เนื่องจากอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขใบอนุญาตของรถสาธารณะเป็นของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ซึ่งกทม.ก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย การขอให้บรรจุวาระพิจารณานี้เข้าไปจึงอาจที่จะเป็นไปได้ รวมถึงสามารถตั้งเป็นคณะทำงานตามที่ส.ก.เสนอได้
.
อย่างไรก็ตามเรื่องฝุ่นเป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ฝ่ายบริหารได้ประสานงานกับหน่วยงานอื่นอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เรื่องสำคัญคือเรื่องของเครื่องยนต์ โดยร่วมกับกระทรวงพลังงานให้บริการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและ ไส้กรอง โดยเฉพาะรถยนต์ระบบน้ำมันดีเซลอายุ 7 ปีขึ้นไป ซึ่งโครงการนี้เริ่มให้ประชาชนสามารถนำรถมาเปลี่ยนน้ำมันเครื่องในราคาที่ถูกลง และเป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานครทำเองไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจ จึงต้องร่วมกับหน่วยงานอื่น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการดูแลโรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในพื้นที่นอกเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเราดูแลทุกเรื่อง แต่ในกรอบของเราจะทำเต็มที่ ต้องมีการประสานหน่วยงานอื่น และจะเร่งรัดการบรรจุวาระเข้ากรมการขนส่งทางบกกลางให้เร็วที่สุด
——————————
ผู้ชมทั้งหมด 579 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง