ส.ก.สัมพันธวงศ์ ให้ความเห็นเเละข้อสังเกตต่อกรณีเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงเเรมย่านถนนข้าวสาร เขตพระนคร
วันที่ 2 มกราคม 2568 นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการการวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการกีฬา ชุดที่ 6 ของสภากรุงเทพมหานคร ได้ออกมาให้ความเห็นเเละข้อสังเกตต่อกรณีเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงเเรมย่านถนนข้าวสาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อคืนวันที่ 29 ธันวาคม 2567 ว่า ด้วยกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นในทั้งเขตสัมพันธวงศ์เเละเขตพระนครเป็นเเหล่งที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยเเละต่างประเทศนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเเละพักอาศัย การดูเเลสวัสดิภาพ ความปลอดภัยในชีวิตเเละทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว รวมทั้งพี่น้องประชาชนในเขตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
.
ดังนั้น เมื่อครั้งที่ตนดำรงตำเเหน่งประธานคณะกรรมการการวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการกีฬา สภากรุงเทพมหานคร จึงได้มีการทำหนังสือเวียนไปยังผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต ตั้งเเต่เดือนกรกฎาคม 2567 เพื่อขอทราบรายละเอียดการขออนุญาตใบประกอบธุรกิจโรงแรมในเเต่ละเขตว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็มีหลายฉบับ เช่น พรบ. โรงเเรม พรบ. สาธารณสุข เเละพรบ.ควบคุมอาคาร เป็นต้น
.
นอกจากนี้ ตนพร้อมด้วยคณะอนุกรรมการฯ เเละหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ ยังได้ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจโรงเเรมในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ทั้งในเรื่องใบอนุญาตประกอบธุรกิจ เเละการควบคุมอาคารว่าเป็นไปตามกฎหมาย ประกาศกระทรวง หรือไม่ ซึ่งโรงเเรมใดมีปัญหาก็ได้เร่งรัดให้ทางหน่วยงานของรัฐผู้มีอำนาจได้ดำเนินการตามกฎหมาย
.
ในส่วนเขตพระนครนั้น คณะอนุกรรมการการวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการกีฬา ชุดที่ 6 ได้เชิญผู้อำนวยการเขต เเละเจ้าหน้าที่เข้าชี้เเจง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 (ก่อนเกิดเหตุ) ซึ่งตนก็ได้กำชับให้มีการติดตามตรวจสอบเรื่องการประกอบธุรกิจโรงเเรมในพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเเละประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่
.
สำหรับเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงเเรมย่านถนนข้าวสาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อคืนวันที่ 29 ธันวาคม 2567 นั้น ผมขอเเสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตเเละได้รับบาดเจ็บ เเละในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการกีฬาของสภากรุงเทพฯ ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการเขตพระนคร เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2568 เพื่อขอทราบรายละเอียดในเรื่องนี้อีกครั้ง เเละจะติดตามประเด็นดังกล่าวต่อเนื่องต่อไปด้วย
.
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ควรจะเป็นบทเรียนให้ผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหน่วยงานของรัฐอื่นได้จริงจังกับการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งในเรื่องใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมและเรื่องโครงสร้างและระบบรักษาความปลอดภัยของอาคาร เช่น ทางหนีไฟ ระบบดับเพลิงในอาคาร การสนับสนุนการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรวมทั้งการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยในย่านแหล่งท่องเที่ยวหรือเเหล่งชุมชนเมืองที่มีความแออัดสูง รวมทั้งการศึกษาเเละปรับปรุง กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจโรงแรมและโรงแรมขนาดเล็ก (hostel) ให้มีความสอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและการประกอบธุรกิจของเอกชน
.
เหตุการณ์นี้ ส่วนหนึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว เเละรายได้ที่จะเข้ามาสู่พื้นที่ เเต่สำคัญกว่านั้นคือชีวิตผู้สูญเสียซึ่งไม่อาจประเมินเป็นราคาได้ ทั้งนี้ ก็หวังว่าทางผู้เกี่ยวข้องจะได้มีการชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้สูญเสียอย่างเป็นธรรมด้วย
————————-
ผู้ชมทั้งหมด 31 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 8 ครั้ง