ส.ก.บางเขน ขอกทม.ตรวจสอบและควบคุม แพล้นปูน ลดปัญหา PM 2.5
ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (17 ก.ค.67) นายนริสสร แสงแก้ว สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางเขน เสนอญัตติ ขอให้กรุงเทพมหานครตรวจสอบ และควบคุมโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน
.
เนื่องจากโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จหรือแพล้นปูนเป็นสาเหตุหนึ่งที่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม บางแห่งตั้งอยู่ในเขตชุมชนที่มีผู้อาศัยหนาแน่น ส่งผลกระทบด้านสุขภาพและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน เช่น ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มลภาวะทางเสียงจากเครื่องจักร น้ำปูนและเศษหิน ดิน ทราย ที่อาจไหลลงท่อระบายน้ำสาธารณะ รวมทั้งการสัญจรของรถบรรทุกขนส่งทำให้เกิดปัญหาการจราจรและทำให้ถนนชำรุดเสียหาย
.
จากสถิติเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 มีการสำรวจจำนวนแพล้นปูนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่ามีจำนวนทั้งหมด 114 แห่งใน 36 เขต และถึงแม้การจัดตั้งแพล้นปูนจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการที่กรุงเทพมหานครมีมาตราการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แล้วนั้น แต่ยังคงมีปัญหาการร้องเรียนจากประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบแพล้นปูนอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาสุขภาพทางเดินหายใจ ปัญหามลพิษทางเสียงจากรถบรรทุกที่เข้า-ออกแพล้นปูนไม่เป็นเวลา ปัญหาเสียงดังจากเครื่องจักร ปัญหาถนนชำรุด ซึ่งกรุงเทพมหานครควรเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับพัฒนาวิธีการติดตามตรวจสอบ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและเป็นการแก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
.
สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตตินี้ ประกอบด้วย นายเอกกวิน โชคประสพรวย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตราชเทวี นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา และนายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตวัฒนา
.
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เบื้องต้นกรุงเทพมหานครได้มีการตรวจสอบ ออกคำสั่งและดำเนินคดีกับสถานประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งพบจำนวน 3 แห่ง จาก 114 แห่ง ซึ่งมีมาตรการในการควบคุมกิจการแพล้นปูน 2 ลักษณะ คือ มาตรการควบคุมสุขลักษณะ และมาตรการควบคุมทางกฎหมาย โดยจะมีการตรวจทั้ง 2 ลักษณะ เดือนละ 2 ครั้ง รวมถึงมีการตรวจวัดค่ามลพิษ นอกจากนี้สำนักงานเขต และสำนักอนามัย ร่วมกันจัดทำมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศ โดยจัดทำแผงกั้นฝุ่นละออง มีผ้าใบคลุมรถบรรทุก มีระบบ Sprinkler ฉีดน้ำบริเวณกองหิน ดิน ทราย จัดทำมาตรการจัดการน้ำเสีย เสียงดัง และกากของเสีย รวมถึงมาตรการด้านความปลอดภัยและชีวอนามัยในโรงงานด้วย
.
สำหรับข้อร้องเรียงจากประชาชนในพื้นที่เขตบางเขนนั้น กรุงเทพมหานครได้รับแจ้งมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีคณะกรรมการตรวจสอบและสรุปการดำเนินการไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันแพล้นปูนทั้ง 3 แห่งเลิกประกอบการทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้จะกลับไปทบทวนเพิ่มเติมว่าจะสามารถนำมาตราการที่เข้มงวดขึ้น มากำกับควบคุมแพล้นปูนตั้งแต่ต้นทางเพื่อไม่ต้องตามจับกุมทีหลังจะทำได้มากน้อยเพียงใด
———-
ผู้ชมทั้งหมด 301 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 4 ครั้ง