skip to Main Content
ส.ก. บางซื่อ จี้ตรวจสอบงบชุมชนเข้มแข็งฯ จัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสหรือไม่

ส.ก. บางซื่อ จี้ตรวจสอบงบชุมชนเข้มแข็งฯ จัดซื้อจัดจ้างโปร่งใสหรือไม่

(30 ต.ค. 67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ ได้ยื่นญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครตรวจสอบการดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็งตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ว่า เนื่องจากตามที่ได้มีการติดตามการดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็งตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ของสำนักงานเขต ซึ่งในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ การกำหนดราคาของวัสดุและครุภัณฑ์ พบข้อสงสัยในการดำเนินการว่าอาจไม่เป็นไปตามหลักการและเหตุผล หรืออาจส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการตรวจสอบและติดตามการใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การดำเนินการโครงการดังกล่าวเป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส ตรงตามวัตถุประสงค์ในการพัฒนาชุมชน และเป็นการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอตั้งคำถามถึงฝ่ายบริหาร 3 ข้อ ได้แก่ 1.มีการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ให้โปร่งใส่หรือไม่ 2.เหตุใดโครงการชุมชนเข้มแข็งถึงมีการงดเว้นเรื่องมาตรฐานของครุภัณฑ์ ทั้งที่จัดซื้อโดยสำนักงานเขตเช่นกัน 3.ในจ้างเหมาปรับปรุงซ่อมแซมมีหลักการด้านงบประมาณอย่างไร
.
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการชุมชนเข้มแข็ง ว่า ตั้งแต่ปี 2566 – 2567 ได้มีการติดตามโดยตลอด จากข้อมูลจะเห็นว่าในปี 2567 มีจำนวนชุมชนลดลง จาก 2,015 ชุมชนเหลือเพียง 2,007 ชุมชน และจากการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในปี 2566 ที่ผ่านมา เบิกจ่ายเพียงร้อยละ 48.86 เนื่องจากติดปัญหาหลักเกณฑ์ที่ต้องแจ้งให้สำนักงานเขต เพราะเป็นปีแรกในการดำเนินโครงการดังกล่าว และติดช่วงเลือกตั้ง ซึ่งจะมีกฎระเบียบต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมที่ไม่สามารถทำในช่วงเลือกตั้งได้ แต่ในปี 2567 มีจำนวนชุมชนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 1,806 ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 90.25 ปัจจุบันมีการคืนเงินเหลื่อมปีไปจำนวน ร้อยละ 31 ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่จากปี 2566 และ2567 ทั้งแนวทางการจัดหาครุภัณฑ์ และการปรับหลักเกณฑ์ให้สามารถจัดซื้อได้มากขึ้นตามความจำเป็นและเหมาะสม เช่น ชุดโปรเจกเตอร์ ชุดกรองน้ำ เป็นต้น พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้นำเสนอผลการดำเนินโครงการของแต่ละเขต ในปี 2567 ที่ผ่านมา เน้นย้ำความคล่องตัวในการดำเนินนโยบายไม่กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ มีคณะกรรมาธิการสภาผู้แทน สตง. ปปช. ภาคประชาชน และอาสาสมัคร ร่วมให้คำแนะนำและไม่ลืมที่จะนำชุดข้อมูลเป็น Open Data เพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ ตลอดจนมีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการจัดซื้อจัดจ้างมาให้คำปรึกษา มีการตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายให้มากขึ้น และมีชุมชนต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่างให้ชุมชนที่ยังไม่ได้ดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาการดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็งในปี 2568
.
นอกจากนี้ยังเตรียมจัดทำแพลตฟอร์มของโครงการ เพื่อให้ประชาชนในชุมชนต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก รวดเร็ว และมีข้อมูลที่จำเป็นในการจัดทำโครงการบรรจุอยู่ในแพลตฟอร์มนี้ทั้งหมด ซึ่งรายละเอียดในการจัดทำโครงการทั้งหมดปฏิบัติตามกฎหมาย และพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง หากไม่ทำตามนี้ทางสำนักงานเขตต้องเข้มงวดในชุมชนนั้น ๆ และทางฝ่ายบริหารจะนำข้อกังวลต่าง ๆ ที่ทางสมาชิกสภากรุงเทพมหานครนำเสนอไปปรับใช้ในโครงการปี 2568 ต่อไป
.
จากนั้นที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีมติเห็นชอบและให้ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครพิจารณาต่อไป
————————–

ผู้ชมทั้งหมด 72 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top