skip to Main Content
สภากทม.เร่งรัดกทม. แก้ไขปัญหาฝาบ่อพักท่อ ย้ำประชาชนทุกคนต้องปลอดภัย

สภากทม.เร่งรัดกทม. แก้ไขปัญหาฝาบ่อพักท่อ ย้ำประชาชนทุกคนต้องปลอดภัย

(3 ก.ค.67) ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาฝาบ่อพักท่อในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
.
เนื่องจากเหตุการณ์ที่มีประชาชนเสียชีวิตจากการพลัดตกลงไปในบ่อพักท่อร้อยสายไฟใต้ดิน บริเวณเกาะกลางถนนปากซอยลาดพร้าว 49 ในพื้นที่เขตวังทองหลาง สาเหตุมาจากการไฟฟ้านครหลวงได้เปิดฝาบ่อแล้วนำไม้อัดที่ชำรุดมาปิดปากบ่อ รวมถึงกรณีอื่นๆ ที่เกิดจากฝาท่อชำรุดมีผู้ได้รับบาดเจ็บในหลายพื้นที่ ฝาท่อสูญหายจากการโจรกรรม ฝาท่อมีรูปแบบที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดเสียงดังรบกวนประชาชนในละแวกนั้น ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีบ่อพักท่อระบายน้ำ บ่อพักท่อสายไฟฟ้า สายสื่อสาร บนพื้นผิวจราจรและทางเท้าจำนวนมาก ทั้งของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานด้านสาธารณูปโภคอื่น ๆ เมื่อเกิดปัญหา หรือกรณีการดำเนินงานของหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค เช่น การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง เปิดฝาบ่อแล้วไม่ปิดฝาให้สนิท ตลอดจนแสงสว่างในบริเวณนั้นไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่สัญจรไปมา
.
นายกิตติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรุงเทพมหานครต้องหามาตรการแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องฝาท่อหาย การออกแบบฝาท่อให้ยากต่อการโจรกรรม การคำนึงถึงฝาท่อที่มีรูปแบบคงทนถาวร แต่สะดวกและรวดเร็วต่อการเปลี่ยนหากชำรุด รวมทั้งเข้มงวดกวดขันผู้รับเหมาให้ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย และมีบทลงโทษหากมีการปล่อยปละละเลย เจ้าหน้าที่รับผิดชอบต้องลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพราะเรื่องฝาท่อชำรุดเป็นปัญหาที่อันตรายสามารถสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้”
.
จากนั้นนายเนติภูมิ มิ่งรุจิลาลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม นางสาวปิยะวรรณ จระกา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสวนหลวง นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง และนายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคลองสาน ได้ร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตตินี้ โดยกล่าวเสริมในเรื่องการรับน้ำหนักของฝาท่อแต่ละประเภท ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานอื่น เช่น การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง มีการดูแลปรับปรุง แก้ไขอย่างไรบ้าง รวมถึงฝาท่อของแต่ละพื้นที่ ที่ปิดไม่สนิทนอกจากไม่ปลอดภัยแล้วยังเกิดเสียงดังรบกวนประชาชนเวลามีรถสัญจรไปมาอีกด้วย
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาเรื่องฝาท่อในกรุงเทพมหานครแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนของ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่น ส่วนแรกความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครเอง ได้แก่
1. แนวทางการซ่อมฝาท่อทั้งหมดจะใช้วิธีใดให้แล้วเสร็จ 100% ทั่วทุกพื้นที่
2. มาตรฐานความปลอดภัยและรูปแบบของฝาท่อให้แข็งแรงคงทน
3. การดำเนินการก่อสร้างที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย
4. การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาตรวจจับปัญหาการทรุดตัวหรือชำรุดของฝาท่อเพื่อการป้องกันเหตุอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
.
ทั้งนี้จะมอบหมายให้สำนักโยธาส่งหนังสือชี้แจงรายละเอียดเพื่อความชัดเจน สำหรับส่วนที่ 2 การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือการประปานครหลวงและการไฟฟ้านครหลวง ทั้งในเรื่องการซ่อมแซมท่อประปาใต้ดินและการนำสายไฟลงดิน ก็คงต้องร่วมมือกันตรวจสอบการดำเนินงานให้เข้มข้นทั้งเรื่องมาตรฐานของโครงสร้างและระยะเวลาในการทำงานเพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยทั้งหมดนี้จะทำหนังสือสรุปและนำเรียนสภากรุงเทพมหานครต่อไป
—————————————————-
 

ผู้ชมทั้งหมด 261 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top