สภากทม. ตั้งคกก.วิสามัญศึกษาถ่ายโอนภารกิจจราจรมาอยู่ภายใต้การกำกับของกทม.
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ในวันพุธที่ 3 มกราคม พ.ศ.2567 ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตลาดกระบัง เสนอญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการถ่ายโอนภารกิจด้านการจราจรมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร
.
เนื่องจากปัจจุบันการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มีหลายภารกิจสำคัญที่ยังไม่มีการถ่ายโอนให้กรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองหลวงเป็นผู้ดำเนินการ โดยเฉพาะภารกิจด้านการจราจรที่จะทำให้การบริหารจัดการจราจรมีความเป็นเอกภาพเกิดความคล่องตัวและสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นการกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานจราจรระหว่างกรุงเทพมหานครกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ให้กรุงเทพมหานครวางแผน ออกแบบและจัดระบบจราจร แต่การพิจารณาเปิด-ปิดเส้นทางจราจร การบริหารจัดการจราจร รวมถึงการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดกฎจราจรกลับเป็นหน้าที่ของตำรวจจราจร ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาการจราจรไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการแก้ไขปัญหาการจราจร เกิดเอกภาพในการบริหารจัดการจราจรและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยในกรุงเทพมหานครให้ดียิ่งขึ้น จึงขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการถ่ายโอนภารกิจด้านการจราจรมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร
.
“ปัญหาการจราจรในปัจจุบันเรื่องการจอดรถในบริเวณที่ห้ามจอด การฝ่าฝืนวินัยจราจร มักเกิดความยุ่งยากในการแก้ไข เพราะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความล่าช้าและปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีจึงตกอยู่ที่ประชาชน หลายพื้นที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ที่ผ่านมาตำรวจได้โอนภารกิจของกองบังคับการตำรวจดับเพลิง (สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) ให้อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานครแล้ว การตั้งวิสามัญเพื่อศึกษาครั้งนี้จะถือเป็นการศึกษาเรื่องกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นอีกเรื่อง เป็นหัวใจของการกระจายอำนาจที่สมบูรณ์แบบ กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดูแลการจราจรได้แค่บนฟุตบาท แต่บนท้องถนนต้องขอความอนุเคราะห์ไปยังตำรวจจราจร ข้อห่วงใยของหลายท่านที่เห็นว่ากรุงเทพมหานครอาจจะทำไม่ได้ ขอยืนยันว่า Impossible is Nothing” ส.ก.สุรจิตต์ กล่าว
.
สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้ร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตตินี้หลายท่าน ประกอบด้วย นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง นางสาวปิยะวรรณ จรกา ส.ก.เขตสวนหลวง และนายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก
.
จากนั้นที่ประชุมได้มีมติตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ จำนวน 17 ท่าน กำหนดระยะเวลาการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
————————————
ผู้ชมทั้งหมด 775 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 6 ครั้ง