สภากทม. จัดหารือ 2 จังหวัดรอยต่อ หาแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน
นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และ ผู้แทนจากหน่วยงานสำนักการระบายน้ำ กทม. ให้การต้อนรับองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ และองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนครสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องในโอกาสเดินทางเยือนสภากรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมประชุมหารือแลกเปลี่ยนความรู้ความร่วมมือระหว่างสมาชิกสภากรุงเทพมหานครกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปริมณฑลที่เป็นพื้นที่รอยต่อกับกรุงเทพมหานคร ในประเด็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
เขตบางขุนเทียนเป็นเขตเดียวของกรุงเทพมหานคร ที่มีพื้นที่ติดทะเล ระยะทาง 4.7 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นทะเลเปิด มีป่าชายเลนจำนวนไม่มากนัก และพบกับปัญหาเสื่อมโทรม ทำให้กันคลื่นไม่ได้ในหน้ามรสุม ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำกัดเซาะชายฝั่ง นายเจษฎา จันทรประภา รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเบื้องต้นที่เกิดขึ้นสำนักระบายน้ำได้มีการทดลองทิ้งหินตามแนวชายฝั่ง ปักไผ่ชะลอน้ำมาแล้วในอดีต ซึ่งไม่เป็นผล ปัจจุบันทางสำนักการระบายน้ำจึงเห็นว่าควรตั้งแนวคันหิน 200 เมตร เว้นช่องว่างระหว่างกัน 50 เมตร โดยมีรูปแบบการวางลักษณะเป็นสลับฟันปลา เพื่อให้ตะกอนการเข้ามาสะสม ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของผืนป่าชายฝั่ง
.
นอกจากนี้จะมีการสร้างอาคารศูนย์สำรวจเฝ้าระวังชายฝั่ง พร้อมท่าเรือ และจุดชมวิว ซึ่งสามารถทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนได้ด้วยโดยมีการศึกษาแล้วว่าไม่มีผลต่อพื้นที่ข้างเคียงรอบข้าง และระหว่างการก่อสร้างจะมีการปักแนวไม้ไผ่ 1 กิโลเมตรสำหรับสองฝั่งคือสมุทรสาครและสมุทรปราการ
.
ด้าน นายสนธยา แตงอุไร นายกอบต.แหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ ได้ให้ความเห็นว่า ทางอบต. แหลมฟ้าผ่าไม่ขัดข้องและยินดีอย่างยิ่งกับโครงการดังกล่าว แต่หากกรุงเทพมหานครสามารถเปลี่ยนการปักแนวไม้ไผ่เป็นมาตรการป้องกันที่มั่นคงมากกว่านี้จะเป็นการดีอย่างยิ่ง เนื่องจากแนวชายฝั่งที่ประสบปัญหาน้ำกัดเซาะของแหลมฟ้าผ่านั้นมีความยาวถึง 14 กิโลเมตร ทว่าปัจจุบันอบต.มีงบประมาณไม่เพียงพอ และติดปัญหาระเบียบเรื่องของโครงสร้างถาวร จากนั้น นายนิรุจน์ แก้วนิล นายกอบต.พันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร เสริมว่า เห็นด้วยกับอบต. แหลมฟ้าผ่าในประเด็นที่ว่าระหว่างการก่อสร้างอาคารศูนย์สำรวจเฝ้าระวังชายฝั่งควรมีมาตรการป้องกันน้ำกัดเซาะที่แข็งแรงกว่าการปักแนวไม้ไผ่ เพราะหากมีคลื่นจะเข้ามากระทบกับทั้งสองจังหวัด ตนมีความเป็นห่วงว่าปัญหาอุทกภัยจะมีความรุนแรงยิ่งขึ้น และหากมีปัญหาแนวกั้นไม้ไผ่ผุพัง จะรับมือแก้ไขได้ยาก
.
ด้านสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้เสนอความเห็นในหลากหลายประเด็น อาทิ ควรมีการวางท่อและปลูกต้นโกงกางเพิ่มเติมจะมีความมั่นคงยั่งยืนมากกว่า การก่อสร้างอาคารถ้าปรับให้มีความทันสมัยและผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วยจะมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจชุมชน การวางแนวหินของโครงการนั้นหากน้ำลดจะส่งผลเสียต่อทัศนวิสัยหรือไม่ อีกทั้งในขณะนี้กทม.ยังขาดงบประมาณในการบริหารจัดการ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้านว่าควรดำเนินการอย่างไร และประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์แท้จริงอย่างไร นอกจากนั้น นายบุญเลิศ แสงพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 7 จังหวัดสมุทรปราการ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติม ว่า หน่วยงานควรเร่งสร้างแนวการป้องกันน้ำกัดเซาะ เนื่องจากแต่ละปีชุมชนจะเสียพื้นที่ใช้สอยเข้าไปเรื่อยๆ ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนตัวในการแก้ปัญหา ส่วนประเด็นของเรื่องภูมิทัศน์และความสวยงามนั้นสามารถปรับแก้ทีหลังได้ และหากมีการก่อสร้างจริง จำเป็นจะต้องเริ่มสร้างหัวท้ายที่ติดกับสองจังหวัดข้างเคียงก่อน เพื่อสำรวจถึงปัญหาและผลกระทบตั้งแต่เนิ่นๆ
.
โดยทางสำนักระบายน้ำได้รับข้อปัญหาและข้อเสนอแนะจากทั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และผู้แทนทั้ง 2 อบต. ไปศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมต่อไป
.
ทั้งนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวปิดท้ายการประชุมว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การหารือร่วมกันในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสภากรุงเทพมหานคร กับ องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ และองค์การบริหารส่วนตำบลพันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดปริมณฑลที่เป็นพื้นที่รอยต่อของกรุงเทพมหานคร และเพื่อประสานความร่วมมือและพึ่งพากันในการพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างเท่าเทียม และเพื่อสร้างความร่วมมือ บูรณาการการทำงาน อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกิดประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนต่อไป
——————————
ผู้ชมทั้งหมด 382 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง