สภากทม.กำชับฝ่ายบริหารเร่งบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำเสียในกทม.
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2566 วันนี้ (25 ต.ค.66) : นางสาวศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพระนคร เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อพัฒนาฟื้นฟูคุณภาพน้ำในคลอง
.
เนื่องจากปัจจุบันสภาพน้ำและทัศนียภาพริมคลองต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลองที่อยู่ในชุมชนหนาแน่นเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร สาเหตุปัญหาของคุณภาพน้ำในคลองเกิดจากคลองเป็นที่รองรับน้ำเสียและของเสียจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ เช่น บ้านเรือน แหล่งชุมชน และอาคารสถานประกอบการ ที่ทิ้งลงมาโดยไม่มีการบำบัด ทำให้ไม่สามารถนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เดินระบบบำบัดน้ำเสียรวมขนาดใหญ่จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยา รัตนโกสินทร์ ดินแดง ช่องนนทรี หน่องแขม ทุ่งครุ จตุจักร และศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางชื่อกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่รวม 212.74 ตารางกิโลเมตร จำนวน 21 เขต มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียรวมทั้งสิ้น 1,112,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่แต่การจะก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียจำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก กรุงเทพมหานครควรศึกษาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนร่วมลงทุนดำเนินการเพื่อความคล่องตัวและลดภาระด้านงบประมาณ รวมทั้งกรุงเทพมหานครควรมีการออกกฎหมายให้ทุกบ้านเรือนมีถังดักไขมัน หรือมีเครื่องบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะปล่อยน้ำเสียลงท่อระบายน้ำ หรือแม่น้ำลำคลอง ดังนั้น เพื่อให้สภาพแวดล้อมของน้ำในคลองใสสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามอย่างยั่งยืน จึงขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อพัฒนาฟื้นฟูคุณภาพน้ำในคลอง
.
“ในอนาคตกรุงเทพมหานครจะมีโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง รวมเป็น 9 แห่ง ดูแลพื้นที่ได้ 22 เขต ซึ่งหมายถึง 28 เขตไม่ได้มีการบำบัดน้ำเสีย ทำให้น้ำเสียไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองโดยตรง จึงขอให้ฝ่ายบริหารพิจารณาร่วมกับเอกชนทำโรงบำบัดน้ำเสีย เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในกทม. นอกจากนี้ขอให้ฝ่ายบริหารเข้าไปดูแลเรื่องก้อนไขมันในท่อระบายน้ำย่านถนนข้าวสาร และถนนอื่นในเขตพระนครด้วย เนื่องจากในพื้นที่มีท่อระบายน้ำที่เก่าและชำรุดหลายจุด” ส.ก.ศศิธร กล่าว
.
ในที่ประชุม สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตติ ประกอบด้วย นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา นายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก นายกฤษก์ คงวุฒิปัญญา ส.ก.เขตภาษีเจริญ นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ นายอานุภาพ ธารทอง ส.ก.เขตสาทร นายเนติภูมิ มิ่งรุจิราลัย ส.ก.เขตบึงกุ่ม นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่
.
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องการบำบัดน้ำเสียเป็นเรื่องที่กทม.ให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยจะดูแลน้ำเสียตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง โดยการบำบัดตั้งแต่ต้นทาง จะดำเนินการดูแลเรื่องบำบัดน้ำเสียตลาดกทม.ทั้ง 12 แห่งให้ถูกต้อง และตลาดเอกชน 145 แห่งได้ส่งทีมเข้าไปดูแลแล้ว ในส่วนการดูแลกลางทางจะกวดขันโดยใช้กฎหมายหลายฉบับประกอบกันเพื่อดูแลร้านค้า โรงงาน และโรงแรม ส่วนปลายทางก็คือการทำโรงบำบัดน้ำเสียซึ่งจะใช้งบประมาณสูงมาก การบำบัดตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นสิ่งที่น่าจะคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ในต้นปีจะมีการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย โรงงาน สถานประกอบการ แต่ยังยกเว้นในส่วนของบ้านเรือนที่พักอาศัยอยู่ ซึ่งคาดว่าเรื่องน้ำเสียในกทม.จะดีขึ้น
—————————-
ผู้ชมทั้งหมด 653 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง