skip to Main Content
ตั้งคกก.วิสามัญฯ พัฒนาที่อยู่อาศัยให้ชาวกทม.

ตั้งคกก.วิสามัญฯ พัฒนาที่อยู่อาศัยให้ชาวกทม.

(2 ต.ค. 67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม
.
นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตยานนาวา ได้ยื่นญัตติ เรื่อง ขอให้สภากรุงเทพมหานครแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการช่วยเหลือและพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า เนื่องจากที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ต้องมีความปลอดภัยและมั่นคง แต่ในปัจจุบันที่ดินที่อยู่อาศัยในเขตเมืองมีมูลค่าสูงขึ้น ทำให้ผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเปราะบางไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยใกล้กับที่ทำงานได้ นำไปสู่ปัญหาเรื่องคุณภาพของที่อยู่อาศัย เกิดเป็นแหล่งชุมชนแออัดและรุกล้ำที่สาธารณะ ปัญหาเหล่านี้กรุงเทพมหานครดำเนินการแก้ไขมาอย่างยาวนาน กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานที่มีข้าราชการและลูกจ้างจำนวนมาก จึงควรสนับสนุนและจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ลดค่าใช้จ่ายด้านที่พักอาศัยเป็นการเพิ่มสวัสดิการและความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยแก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน และควรจัดหาที่อยู่อาศัยใกล้หน่วยงานมากกว่าอยู่ในพื้นที่เขตรอบนอก จะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางได้ โดยขอให้พิจารณาการใช้พื้นที่ของทางราชการหรือที่ราชพัสดุเป็นทางเลือกในการนำมาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยเพิ่มในอนาคต
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ดินในกรุงเทพมหานครมีราคาแพงทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพได้ยาก ที่ผ่านมากทม.มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยอยู่ 2 หน่วยงานคือ โครงการบ้านมั่นคง ที่ดำเนินการร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กรมธนารักษ์ และการเคหะแห่งชาติ ที่พัฒนาที่อยู่อาศัยตามเขตต่าง ๆ และมีโครงการธนารักษ์พัฒนาทรัพย์สิน ซึ่งเป็นโครงการสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง
.
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการในการเรื่องที่อยู่อาศัยของกทม.แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ข้าราชการ โดยมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยเรียบร้อยแล้ว 2. คนเมือง มีการประสานสำนักงานเขตในการประชาสัมพันธ์แหล่งที่อยู่อาศัยราคาถูกที่ไหนบ้าง และ 3. กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องคำนึงถึงการหาที่อยู่อาศัยทั้งครอบครัวและที่อยู่อาศัยต้องใกล้กับแหล่งงานด้วย โดยกทม.ทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคม การเคหะแห่งชาติ และ พอช. ปัจจุบันมีชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายอยู่ 600 ชุมชน ทั้งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ที่ยังไม่มั่นคง แบ่งเป็น 6 สำนักงานเขต คือเขตคลองเตย ปทุมวัน ยานนาวา มีนบุรี ราชเทวี และเขตประเวศ โดยมีการตั้งคณะกรรมการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยระดับเขตและประสานงานกับสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย (สพอ.) เป็นหลัก
.
โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ร่วมอภิปรายในญัตตินี้ ประกอบด้วย นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้นได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปีค่อนข้างน้อยเนื่องจาก แต่เดิมมีการตั้งงบประมาณที่สำนักพัฒนาชุมชน และในภายหลังได้มีการโอนย้ายภารกิจมาให้สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยกรุงเทพมหานครมีจำนวนประชากรแฝงมากกว่าเท่าตัวของประชาชนกรุงเทพมหานคร ทั้งคนไทยและคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ต้องการที่พักอาศัยเช่นเดียวกัน หากสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่สามารถดูแลประชากรของกรุงเทพมหานครที่เดือดร้อนซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ได้ จึงขอให้ฝ่ายบริหารประสานงานร่วมกับองค์กรภายนอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่อไป
.
นางสาวมธุรส เบนท์ ส.ก.เขตสะพานสูง กล่าวว่า การเข้าถึงที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครมีราคาที่ค่อนข้างสูง ประชาชนต้องเลือกที่อยู่อาศัยที่ในพื้นที่รอบนอกที่มีราคาถูกลง แต่เดินทางลำบากมากขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น เกิดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยไม่มีคุณภาพ ไม่มีระเบียบเกิดเป็นชุมชนแออัดและบุกรุกพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการยังไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการประสานงานและความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพัฒนาการขนส่งสาธารณะให้เข้าถึงแหล่งชุมชนได้ง่ายรวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในการพัฒนาที่อยู่ศัยเพื่อตอบสนองความต้องการอย่างแท้จริง
.
นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง กล่าวว่า ปัญหาที่อยู่อาศัยในเขตรอบนอกของกรุงเทพฯมีจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณใกล้แม่น้ำลำคลอง กทม.ควรใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครในการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อควบคุมอาคารและการก่อสร้างต่าง ๆ โดยดำเนินการร่วมกับ พอช. สำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย ในการวางแผนพัฒนาชุมชนต่อไปได้ รวมถึงพิจารณาความเป็นไปได้ในการซื้ออาคารชุดจากโครงการที่ปล่อยร้างมาพัฒนาให้ใช้งานได้ และผลักดันให้เป็นที่อยู่อาศัยที่สามารถเป็นเจ้าของได้เมื่อทำการผ่อนชำระเสร็จสิ้น
.
ด้านนายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท กล่าวว่า ควรคำนึงบทบาทของสำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยว่าหากดำเนินการซื้อโครงการอาคารชุดมาปรับปรุงเพื่อให้ประชาชนซื้อและเป็นเจ้าของนั้น งบประมาณมีเพียงพอหรือไม่และเมื่อต้องจ่ายชำระค่าที่อยู่อาศัยนั้นจะเป็นรายได้ให้กับกทม.หรือสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหน่วยงานพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร ต้องมีความชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อนในการดำเนินกานงบประมาณของกทม.ในภายหน้า
.
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการช่วยเหลือและพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 16 ท่าน กำหนดเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
——————————

ผู้ชมทั้งหมด 89 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง

This Post Has 0 Comments
กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น
Back To Top