คาดใน 3 เดือนได้แผนแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากผู้ประกอบการรับ-ส่งสินค้าในพื้นที่เขตทวีวัฒนา
(25 ต.ค.66) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
.
นายยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตทวีวัฒนา ตั้งกระทู้ถามสด เรื่อง การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการรับส่งสินค้าอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ยื่นญัตติไปแล้ว และกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือรายงานการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการรับส่งสินค้ามายังสภากรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงพบว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกชุก ซึ่งนอกจากทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดแล้วยังส่งผลให้ถนนชำรุดเป็นหลุมเป็นบ่อได้รับความเสียหายด้วย จึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการรับส่งสินค้าอย่างยั่งยืน
.
ในคราวประชุมสภากทม.เมื่อวันที่ 18 ม.ค.66 ได้เสนอญัตติปัญหานี้และที่ประชุมให้ความเห็นชอบไปแล้ว จากนั้นเขตทวีวัฒนาได้รายงานผลการดำเนินการตามญัตติดังกล่าว แต่จากการลงพื้นที่พบว่าการดำเนินการยังไม่เรียบร้อย ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั้งเรื่องของมลภาวะและเรื่องของการจราจร การหาจุดรวมเพื่อให้บริษัทขนส่งดำเนินการอาจจะลดปัญหาให้กับประชาชนได้
.
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ในพื้นที่พุทธมณฑลสาย 1-2 มีปัญหานี้ต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นจุดกระจายสินค้า ก่อนนี้ไม่มีกฎหมายมารับรองแต่เมื่อมีกฎหมายผังเมืองอาจจะทำไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ตามกฎหมายผังเมืองก็ไม่สามารถควบคุมกิจการที่มาก่อนหน้าได้ การแก้ปัญหาจึงจะต้องทำทั้งสองส่วนทั้งการแก้ปัญหาปัจจุบันและวางแผนในอนาคต โดยเชิญภาคเอกชนมาร่วมหารือในการแก้ไข ในส่วนของการควบคุมรถบรรทุก 10 ล้อ จะนำเรื่องนี้ไปหารือคณะทำงานร่วม ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในคณะทำงานนี้ด้วย เพื่อกำกับดูแลรถบรรทุกที่ผิดกฎหมาย ควบคู่ไปกับการใช้อำนาจตามกฎหมายของกทม. เช่น การเข้มงวดการตรวจจับรถควันดำ คาดว่าภายใน 3 เดือนจะสรุปแผนการดำเนินการได้ ในส่วนของการย้ายศูนย์กระจายสินค้ามี 3 แนวทาง คือ กทม.ทำเอง รัฐบาลทำโดยกรมการขนส่งทางบก และภาคเอกชนดำเนินการภายใต้มาตรการจูงใจ
.
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนไปแล้ว 111 ราย รวมทั้งประสานสถานีตำรวจ และสำนักงานเขตพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาว ได้ประสานกรมการขนส่งทางบกโดยขอให้เพิ่มขีดความสามารถการกระจายสินค้าในเส้นพุทธมณฑล และเพิ่มศักยภาพในการรับสินค้าให้มากขึ้น และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในอนาคตเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย
—————————
ผู้ชมทั้งหมด 501 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง