กทม.เต็มที่ เต็มกำลัง เฝ้าระวังทุกมิติ พร้อมรับมือ น้ำเหนือ น้ำหนุน น้ำฝน
(16 ต.ค. 67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
.
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตจอมทอง เสนอญัตติด้วยวาจา เรื่องขอให้กรุงเทพมหานครเตรียมแผนการป้องกันน้ำท่วมจากสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน โดยกล่าวว่าปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครเป็นปัญหาสำคัญที่ประชาชนชาวกรุงเทพฯกังวลเป็นอย่างยิ่ง หากน้ำทะเลหนุน รวมกับฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวัน กทม.จะรับมือน้ำท่วมได้หรือไม่ จึงอยากให้ฝ่ายบริหารตอบคำถามที่ประชาชนข้องใจนี้ โดยอ้างอิงจากนิด้าโพล พบว่า ประชาชนกว่า 30% กังวลเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ เนื่องจากหลายจังหวัดทางตอนบนของประเทศไทยเกิดมหาอุทกภัย ประชาชนจึงมีความกังวลเป็นอย่างยิ่ง หากย้อนไปในเหตุการณ์เมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด และไม่อยากให้เกิดซ้ำรอย เห็นควรให้มีระบบการบริหารจัดการน้ำให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดมหาอุทกภัยในปี 2567 นอกจากนี้ยังกังวลว่าหากน้ำท่วมจริง ๆ เครื่องสูบน้ำจะมีเพียงพอหรือไม่
.
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวขอบคุณสำหรับญัตตินี้ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ในส่วนของประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ ที่ต้องระวังมีอยู่ 3 น้ำ คือ น้ำเหนือ น้ำหนุน และน้ำฝน น้ำเหนือขณะนี้ไม่ต้องกังวลเนื่องจากเขื่อนตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยายังมีความสามารถรับน้ำได้ในปริมาณมาก โดยช่วงนี้ถือเป็นปลายฝนแล้วแต่ความจุของเขื่อนภูมิพลยังสามารถรับน้ำได้มากกว่า 30% จึงไม่ต้องกังวล อีกทั้งกรุงเทพมหานครมีจุดเช็คระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนเข้ากรุงอยู่ที่จังหวัดชัยนาท อีกจุดคือที่บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
.
รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวพร้อมแสดงกราฟปริมาณน้ำไหลผ่าน ณ สถานี C 29 A แม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปรียบเทียบระหว่างปี 2554, 2565 และเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณน้ำยังห่างจากจุดรับน้ำอีกมาก โดยเมื่อปี 2554 มีปริมาณน้ำไหลผ่านปริมาณ 3,930 ลบ.ม/วินาที ซึ่งเกินจุดรับน้ำมากว่า 400 ลบ.ม/วินาที และในปี 2565 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,983 ลบ.ม/วินาที และเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา พบว่าปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,319 ลบ.ม/วินาที จากนี้ไปก็จะปล่อยน้ำน้อยลงอีก ฉะนั้นน้ำเหนือจึงไม่น่ากังวล
.
ส่วนน้ำหนุน ระดับสูงที่สุดที่ปากคลองตลาด ที่ต้องเฝ้าระวังมี 3 ช่วงคือ วันที่ 20 ตุลาคม 18 พฤศจิกายน และ 17 ธันวาคม ซึ่งปริมาณน้ำหนุนจะสูงที่สุดอยู่ที่ 1.37 ม.รทก. เมื่อบวกรวมกับน้ำเหนือจะอยู่ในเกณฑ์ไม่เกินแนวเขื่อนโดยรอบริมแม่น้ำเจ้าพระยา 88 กิโลเมตร นอกจากนี้ในส่วนแนวรั้วซึม แนวป้องกันของเอกชนและหน่วยงานรัฐ รวมท้ังจุดฟันหลอ รวม 120 แห่ง กรุงเทพมหานครได้ซ่อมแซมไปแล้วกว่า 50% จัดเตรียมกระสอบทรายและเครื่องสูบน้ำเตรียมความพร้อมตลอดเวลา
.
ในส่วนของน้ำฝน ร่องมรสุมลงไปทางตอนใต้ของประเทศไทยแล้วในช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานี้ที่กรุงเทพมหานครยังมีฝนจากทางภาคตะวันออกไม่มากนักไม่ต้องกังวล ซึ่งค่าเฉลี่ยฝนโดยรวมในปีนี้ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่กรุงเทพหมานครยังคงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะฝนอาจจะมาช้ากว่าปกติ ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปก็อาจจะเป็นช่วงที่เราหมดความกังวลเรื่องน้ำท่วมไปได้บ้าง
.
ขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครยังคงเฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องอุปกรณ์ เจ้าหน้าที่ เครื่องผลักดันน้ำ การขุดลอกท่อ ตรวจสอบระบบระบายน้ำ การเตรียมลดระดับน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำฝน ตลอดจนการประสานกับกรมชลประทานในการจัดการน้ำสายหลัก การประชุมร่วมกับจังหวัดปริมณฑล และวางแผนบริหารจัดการน้ำกับคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อย่างสม่ำเสมอ อยากให้พี่น้องประชาชนกรุงเทพหมานครสบายใจ และคลายกังวลเรื่องสถานการณ์น้ำ รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวทิ้งท้าย
————————-
ผู้ชมทั้งหมด 80 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง