เสนอกำหนดแนวทางควบคุมไรเดอร์ ลดผลกระทบกีดขวางทางสัญจรให้ประชาชน
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 ในวันนี้ (11 ต.ค.66) : นางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางซื่อ เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดจากพนักงานส่งอาหารเอกชน
.
เนื่องจากปัจจุบันประชาชนในกรุงเทพมหานครมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปจากการใช้บริการซื้ออาหารที่ร้านเป็นการใช้บริการสั่งอาหารผ่านผู้ให้บริการส่งอาหารมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันการใช้บริการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียงกับร้านอาหาร ทั้งปัญหาการจอดรถกีดขวางถนนและทางเท้า ปัญหาการขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า และปัญหาการมั่วสุม ส่งเสียงดัง หรือการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมบางประการ อันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย กระทบต่อสิทธิและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนและพนักงานส่งอาหารเอกชนสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เกิดปัญหา จึงขอให้กรุงเทพมหานครกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดจากพนักงานส่งอาหารเอกชน
.
ส.ก.ภัทราภรณ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดจากการขยายตัวของ Delivery ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้มีจำนวนไรเดอร์ (Rider) มากขึ้นและก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน โดยข้อมูลการร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue พบว่า มีปัญหาเกี่ยวกับไรเดอร์มากถึง 288 รายการ แบ่งเป็น ปัญหาการขับขี่บนทางเท้า ซึ่งฝ่ายบริหารได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว อีกปัญหาคือการจอดรถกีดขวางบนทางเท้า ซึ่งเข้าใจว่าเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง
.
“ในพื้นที่เขตบางซื่อ มีห้างเกตเวย์บางซื่อ ซึ่งภายในห้างมีร้านอาหารจำนวนมาก ทำให้ไรเดอร์ต้องมาจอดรอที่บริเวณซอยเล็กๆ ด้านข้างของห้างจำนวนมาก ระหว่างรอไรเดอร์แต่ละคนก็จะพักผ่อนบนฟุตบาททางเท้าซึ่งกีดขวางทางเดินสัญจรสำหรับประชาชนทั่วไป เมื่อประสานงานไปยังสำนักงานเขตจึงได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจมาตั้งจุดตรวจบริเวณปากซอย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไปประจำจุดอื่นไรเดอร์ก็จะกลับมา จึงได้ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับไรเดอร์พร้อมทั้งประสานห้างเพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกันรวมไปถึงบริษัทต้นสังกัดของไรเดอร์ด้วย โดยบริษัท LINE MAN ได้ให้ความร่วมมือในการแก้ไขเป็นอย่างดีรวมทั้งได้มีข้อเสนอเพื่อให้เกิดการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมโดยขอให้มีการตั้งจุด เพื่อให้ไรเดอร์ได้รอคอย เช่น บริเวณใต้สถานี MRT เตาปูน ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่ามีพื้นที่กว้างขวางและไม่ได้กีดขวางการสัญจร เหมาะที่จะเป็นจุดพักคอยต้นแบบ ดังนั้นจึงขอให้ฝ่ายบริหารไปพูดคุยกับบริษัท Delivery อื่นเพื่อหาทางออกร่วมกัน และพิจารณาจุดพักคอยสำหรับไรเดอร์ที่มีหนาแน่นในบางจุด รวมถึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจตราในตรอกซอกซอยด้วย” ส.ก.เขตบางซื่อ กล่าว
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าไรเดอร์เป็นปัญหาที่มากับเทคโนโลยี และโลกที่เปลี่ยนไป ปัญหาหลักๆ มีสามเรื่อง คือ 1. ไรเดอร์ที่ขับรถผิดกฎหมาย 2. การจอดรถผิดกฎหมายกีดขวางจราจร 3. การก่อให้เกิดเหตุรำคาญ การมั่วสุมกัน
.
เรื่องของการขับขี่บนทางเท้าได้ใช้พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดพ.ศ. 2535 มาช่วยกำกับ ส่วนเรื่องการจอดกีดขวางจราจรเป็นพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูแล เช่นเดียวกับการมั่วสุมก็ต้องเป็นทางตำรวจมาดูแล ส่วนเหตุความรำคาญสามารถใช้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 จะเห็นได้ว่าต้องใช้หลายมาตรการมาทำงานร่วมกัน ที่ผ่านมามีการจับปรับจำนวนมากโดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจต่อมาพัฒนาโดยใช้ระบบ AI ใช้กล้องวงจรปิด ซึ่งตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน – 8 ตุลาคม 2566 สามารถจับกุมผู้กระทำผิด ได้แล้ว 32,856 ราย ซึ่งกล้องสามารถระบุรายละเอียดทะเบียนได้ และพบว่า 83% เป็นประชาชนทั่วไป ไรเดอร์มีจำนวน 9% ส่วนที่เหลือคือวินจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งกลุ่มไรเดอร์เรามีข้อมูลหมดว่าเป็นบริษัทไหน นอกจากนี้กทม. ได้แก้ปัญหาทางด้านกายภาพโดยการตั้งตัวเสาป้องกันมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า (S-Guard) ในจุดที่เป็นปัญหาด้วย สำหรับจุดที่บางซื่ออาจต้องติดตั้งกล้อง CCTV และดำเนินการให้เป็นมาตรฐานให้มากขึ้น
.
“ในส่วนของการหารือผู้ประกอบการได้เชิญทุกบริษัทมาร่วมหารือและจะมีการใช้มาตรการการจ้างงานมาบังคับเพื่อให้ไรเดอร์เกรงกลัว เพราะเรื่องค่าปรับอาจไม่มีผลกระทบแต่ถ้าเป็นเรื่องงานอาจมีผลมากกว่า ในกรอบของกทม.จะพยายามทำเต็มที่โดยเอาเทคโนโลยีมาช่วย ส่วนเรื่องเหตุเดือดร้อนรำคาญและจอดกีดขวางทางจราจรต้องเป็นเรื่องของตำรวจ ซึ่งจะอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการร่วมที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และข้อเสนอแนะของส.ก.จะนำไปปฏิบัติเพิ่มเติมเพื่อให้ทุกคนอยู่ได้กับเทคโนโลยีใหม่” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
————————————
ผู้ชมทั้งหมด 360 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 3 ครั้ง