ส.ก.ดอนเมือง จี้กทม.ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติฉีดวัคซีนสัตว์เลี้ยงและสัตว์จร
ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (17 ก.ค.67) นางกนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง เสนอญัตติ ขอให้กรุงเทพมหานครปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติในการลงพื้นที่ของหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
.
เนื่องจากปัญหาสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์จรในกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลกระทบให้เกิดโรคจากสัตว์ ประชาชนได้รับอุบัติเหตุจากการถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วน และปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญตามมา และพบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาได้ไม่ทันการเพิ่มจำนวนของสัตว์ดังกล่าวและไม่ทั่วถึง
.
“การประชาสัมพันธ์การลงพื้นที่ของหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ยังไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนในชุมชนหรือสมาชิกสภากรุงเทพมหานครประจำเขตนั้นไม่ทราบ ไม่มีการแนะนำขั้นตอนการนำสัตว์เลี้ยงเข้ารับบริการทำหมัน เช่น ประชาชนไม่ทราบว่าต้องงดอาหารสัตว์เลี้ยงกี่ชั่วโมงก่อนมารับบริการ ปัญหาสัตว์เลี้ยงทะเลาะหรือกัดกันตอนเข้ารับบริการ จำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ปัญหาการเดินทางมายังสถานที่ส่วนกลางที่กำหนดซึ่งห่างไกลซึ่งจากบางชุมชน เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม” ส.ก.ดอนเมือง กล่าว
จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมกันอภิปรายสนับสนุนญัตตินี้ ประกอบด้วยนายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ส.ก.เขตทุ่งครุ นายอานุภาพ ธารทอง ส.ก.เขตสาทร นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง นายนภาพล จิระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท และนางสาวปิยะวรรณ จระกา ส.ก.เขตสวนหลวง โดยกล่าวว่า ปัญหาหลักของการออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่คือการจำกัดจำนวนการให้บริการฉีดวัคซันและทำหมันสัตว์ต่อครั้งน้อยกว่าสัตว์ที่มารับบริการจริง ประชาชนส่วนใหญ่นำสัตว์เลี้ยงมาแล้วแต่เมื่อมาถึงหน่วยบริการกลับพบว่าคิวเต็มแล้ว ต้องนำสัตว์เลี้ยงกลับ ในบางเขตพบว่ามีการรับจ้างจองคิว ซึ่งที่ผ่านมาส.ก.แต่ละเขตต้องดำเนินการประสานหน่วยงานเอกชน หรือมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog – in Thai) มาร่วมให้บริการเพิ่มเติม จึงอยากให้ฝ่ายบริหารพิจารณาปรับจำนวนอัตราการให้บริการในแต่ละครั้ง ส่วนเรื่องของจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ เสนอให้มีการเปิดรับอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมฉีดวัคซีน ทำหมัน มาร่วมช่วยงานในการออกหน่วยแต่ละครั้ง
.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการทำหมันให้กับสัตว์เลี้ยงในปี 2567 ไปกว่า 45,000 ตัวแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรสัตว์เลี้ยงของชาวกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่าบุคลากรทางด้านการสัตวแพทย์ของกรุงเทพมหานครมีจำนวนไม่เพียงพอจริง และได้มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา
.
ด้านรศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รับเรื่องการประชาสัมพันธ์ไปปรับปรุง สำหรับการออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ ขณะนี้มีการเพิ่มรอบการออกหน่วยเป็น 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และขณะนี้ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินการผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีน รวมกึงการหาบ้านให้แมวได้จำนวน 26 ตัว และในปี 2568 จะสามารถเร่งอัตราการทำหมันให้มีจำนวนที่มากยิ่งขึ้นได้อย่างแน่นอน
——————————
17
ผู้ชมทั้งหมด 177 ครั้ง, ผู้ชมวันนี้ 2 ครั้ง